แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ถึงตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีคำสั่งเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 และมีการปรับแผนการใช้เงินจากเดิมที่ต้องกู้เงินมาใช้ในโครงการ เป็นการปรับงบประมาณบางส่วนในปี 2567 และตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นจากกรอบเดิมในปี 2568 เพื่อนำมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล
สำหรับกรอบการใช้เงินในโครงการใน 2 ปีงบประมาณ จะมาจากการปรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ราว 1-1.5 แสนล้านบาท และการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่กำลังจัดทำเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอีกประมาณ 3.5-3.7 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะมีการจัดสรรบางส่วนออกมาจากงบกลางที่ใช้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเป็น เร่งด่วน ที่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี จำนวน 606,765 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4% ของงบประมาณทั้งหมด
ขณะที่งบประมาณในปี 2568 นั้น ล่าสุดสำนักงบประมาณ ได้ขอเลื่อนการเสนอรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ให้ ครม.พิจารณาวันที่ 26 มีนาคม 2567 ออกไปอีก 1 สัปดาห์
เนื่องจากมีข้อเสนอจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ชาติ ให้มีการปรับตัวเลขการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นจากกรอบเดิมที่ตั้งไว้แค่ 713,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2567 จำนวน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้มีช่องในการกู้เงินมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ในปีงบประมาณ จึงต้องปรับข้อเสนองบของแต่ละหน่วยงานใหม่ แต่ยืนยันว่าจะยังอยู่ในกรอบที่เริ่มใช้ได้ทันในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2567
สำหรับงบประมาณปี 2568 เดิมนั้น มีการตั้งกรอบวงเงินไว้ 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2567 ราว 100,000 ล้านบาท กำหนดรายได้สุทธิ 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท โดยสามารถจำแนกหมวดต่างๆ ได้ ดังนี้
1.รายจ่ายประจำ 2,713,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 180,873.1 ล้านบาท คิดเป็น 75.38%
2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีการตั้ง จากปี 2567 ตั้งไว้ 118,361.1 ล้านบาท
3.รายจ่ายลงทุน 742,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24,577.8 ล้านบาท คิดเป็น 20.62%
4.ชำระคืนต้นเงินกู้ 144,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25,680 ล้านบาท คิดเป็น 4%
กำหนดรายได้สุทธิ 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท
ขณะที่ในวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่า “ขอให้รอการแถลง ไม่อยากพูดอะไรไป ให้เกิดความสับสน”
ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้ตอบคำถามถึงแหล่งที่มาของงบประมาณในโครงการดิจิทัวอลเล็ต ว่าจะเป็นการใช้เงินกู้ของปี 2567 หรือไม่ว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป รอเข้าที่ประชุมเพื่อให้มีมติคณะกรรมการ ไม่เกินวันที่ 10 เม.ย.2567 ก็จะมีความชัดเจนทุกอย่าง ขณะนี้ยืนยันได้ว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการแน่นอน และจะถึงมือประชาชนภายในปีนี้
ส่วนประเด็นที่ป.ป.ช. บอกว่าไม่ตรงกับนโยบายหาเสียงนั้น นายจุลพันธ์ชี้แจงว่า โครงการนี้คือนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่นโยบายพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งได้แถลงต่อสภาไปแล้ว รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสม จึงต้องมีการหารือเพื่อหาจุดสมดุลของนโยบายต่างๆ เมื่อเดินหน้า เราก็ต้องหากลไกที่เหมาะสม และตอบสนองต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของนโยบายให้ได้มากที่สุด
ขณะเดียวกันเมื่อมีข้อท้วงติงในบางจุด เช่น เรื่องของการลดจาก 54 ล้านคน รัฐบาลก็ปรับลดลงเล็กน้อย เพื่อตอบสนองต่อข้อห่วงใย เพราะฉะนั้นจะให้เหมือนกับที่หาเสียงไว้ 100% คงเป็นไปได้ยาก
รัฐบาลได้ตอบข้อซักถามอภิปรายของทางวุฒิสภาไปแล้วว่า นี่ไม่ใช่การจูงใจในการเลือกตั้ง เพราะผ่านพ้นการเลือกตั้งมานานแล้ว แต่โครงการนี้ คือ การทํานโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชน
เพราะนี่คือ นโยบายรัฐที่ได้รับการประทับตรารับรองโดยประชาชนในระดับหนึ่ง เข้าสู่รัฐสภาทางรัฐบาลมีหน้าที่ต้องเดินหน้านโยบายให้สําเร็จ
ก่อนหน้านี้ นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณราว 6 แสนล้านบาท ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน
โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ที่จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องเป็นประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากไม่ถึง 500,000 บาท หากเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งจะไม่สามารถรับสิทธิได้ ระยะเวลาการใช้สิทธิทั้งสิ้น 6 เดือน มีการขยายรัศมีการใช้จ่ายในระดับอำเภอที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน
งบประมาณ 6 แสนล้านบาท จะแยกออกเป็น 2 ส่วน งบ 5 แสนล้านบาท รัฐบาลจะออกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อใช้แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต งบอีก 1 แสนล้านบาท จะมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567, 2568 และ 2569 สำหรับใช้ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน