ม.หอการค้าไทย หั่น GDP เหลือ 2.6% หวังเงินดิจิทัลช่วยกระตุ้น

19 มี.ค. 2567 | 08:09 น.
อัพเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2567 | 08:31 น.

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ หรือ GDP ไทยปี 67 จากเดิมคาดว่าเติบโต 3.2% เหลือโต 2.6%

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปี 2567 จากเดิมคาดว่าเติบโต 3.2% เหลือโต 2.6% โดยยังไม่รวมผลของโครงการ Digital wallet ของรัฐบาล ซึ่งการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 มาจากปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดไว้เดิม โดยในรายงานฉบับล่าสุดของ IMF ได้ปรับลดปริมาณการค้าลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.5% โดยมีสาเหตุจากปัญหาในทะเลแดง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวจนถึงหดตัว การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายงบลงทุนทำได้ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้เดิม

ม.หอการค้าไทย หั่น GDP เหลือ 2.6% หวังเงินดิจิทัลช่วยกระตุ้น

ในกรณีที่ดีกว่าคาดการณ์เศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวได้ 3.1% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดิจิทัลวอลเล็ต ที่ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางจำนวน 15 ล้านคน โดยแหล่งเงินมาจากงบกลางของ พรบ.งบประมาณ 67 ส่วนกรณีที่ดีที่สุดเศรษฐกิจมีโอกาสโตได้ 3.8% โดยมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใช้แหล่งเงินจากงบกลางของ พรบ. งบประมาณ 67 และ 68 หรือ 2 ปี รวมกัน และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 26 ล้านคน

สำหรับทางเลือกของเครื่องมือที่สามารถใช้เพื่อขับเคลื่อนให้ GDP ปี 2567 ขยายตัวได้มากกว่า 3% ทำได้โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำซึ่งรัฐบาลสามารถตัดสินใจทำได้ทันที (หาก พรบ.งบประมาณรายจ่ายฯ มีผลบังคับใช้) แต่มีช่องว่าง (Gap) ให้ทำได้อีกไม่มากนัก ซึ่งทุกๆ 1 แสนล้านบาทของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐบาล จะมีผลทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.52%

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่

1. ภาคการผลิต ที่มีแนวโน้มจะสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

3. การบริโภคภาคเอกชน ที่ช่วยประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

4. การส่งออกสินค้า สามารถพลิกกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง

ม.หอการค้าไทย หั่น GDP เหลือ 2.6% หวังเงินดิจิทัลช่วยกระตุ้น