องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือ “รถเมล์” ที่คนกรุงเทพฯ รู้จักคุ้นเคยกันมานานเกือบ 50 ปี ปัจจุบันองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดคนกรุงกำลังอยู่ในภาวะการขาดทุนสะสมมากกว่า 1.4 แสนล้านบาท และกำลังประสบปัญหาเรื่องของจำนวนรถที่ให้บริการประชาชน
ภายหลังรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน หยุดวิ่งลง เพราะติดปัญหาเรื่องของสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถเมล์ NGV 489 คัน จึงส่งผลกระทบต่อการให้บริการ โดยมีรายงานว่า กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ที่มี บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งขอยกเลิกสัญญา
ล่าสุด ขสมก. ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. วันที่ 27 มีนาคม 2567 เพื่อพิจารณารับทราบการบอกเลิกสัญญาเหมาซ่อมกับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO โดย บมจ.ช ทวี แล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า เป็นที่น่าสังเกตถึงการดำเนินการดังกล่าว ทาง ขสมก. ไม่เร่งรัดการหาบริษัทเอกชนเข้ามาทำการซ่อมแซมบำรุงรถเมล์ NGV 489 คันโดยเร็ว แต่กลับนำรถไปจอดทิ้งไว้แทนโดยที่ไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดถึงดำเนินการอย่างนี้ ทั้งที่รถเมล์ NGV 489 คัน นั้น สามารถนำกลับมาซ่อมให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนก็สามารถวิ่งได้ตามปกติ
แต่ในการประชุมบอร์ด ขสมก. ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 ขสมก.กลับเสนอโครงการจัดหารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด หรือ รถเมล์ EV เข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งหากบอร์ดเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการจัดหารถเมล์ EV เข้ามาวิ่งแทนนั้น จะทำให้ขสมก.ต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก ทั้งที่สถานะขององค์กรยังขาดทุนมากกว่าแสนล้านบาท
แหล่งข่าว ระบุว่า ในเบื้องต้นหากขสมก. เลือกการจัดการถเมล์ EV มาวิ่งแทนรถเมล์ NGV 489 คัน โดยถ้าเลือกวิธีการเช่าจะทำให้ขสมก.มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเช่ารถต่อวันอย่างน้อย 5,000 บาทต่อวัน ทั้งที่รายได้แต่ละวันสามารถจัดเก็บได้แค่ 3,800 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งวงเงินค่าเช่ายังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายพนักงานขับรถและพนักงานเก็บเงินด้วย ทั้งที่ความเหมาะสมจริง ๆ แล้ว ขสมก. สามารถทำการซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV กลับมาใช้ได้ และถือเป็นพลังงานสะอาดเช่นเดียวกัน
“ที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด ขสมก.เคยมีรายได้ประมาณ 8,500 บาทต่อคันต่อวัน แต่ปัจจุบันนี้ ขสมก.มีรายได้เฉลี่ยเพียงแค่ 3,800 บาทต่อวันเท่านั้น เพราะมีผู้มาใช้บริการน้อยกว่าเดิม อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมายังมีโครงการรถไฟฟ้าเกิดขึ้นหลายสาย และบางสายเช่น สายสีแดงและสายสีม่วงยังเก็บค่าโดยสารแค่ 20 บาท จึงทำให้คนใช้บริการลดลง จึงเกิดข้อสงสัยว่า หากขสมก.เลือกวิธีการจัดหารถเมล์ EV ใหม่ และถ้าใช้วิธีการเช่าจะคุ้มค่าพอหรือไม่” แหล่งข่าวระบุ
นอกจากนี้ในเรื่องของสัญญานั้น แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า หลังจากรถเมล์ NGV หยุดวิ่งไป ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อพิพาท เพราะที่ผ่านมา ขสมก.เคยระบุว่า จะเรียกค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสจากคู่สัญญา หลัง ขสมก.ขาดโอกาสในการหารายได้จากรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ซึ่งตามสัญญากำหนดค่าปรับประมาณวันละ 1,000 บาทต่อคันต่อวัน
อีกทั้งยังมีการขาดรายได้จากการนำรถเส้นทางอื่นมาช่วยวิ่งแทน รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะถูกคู่ค้าเรียกค่าเสียหาย เช่น สัญญาโฆษณาบนรถ NGV กับคู่ค้า และค่าเสียหายอื่นที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นเงินกว่า 500 ล้านบาทอีกด้วย