การปรับขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” หรือค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่ ซึ่งจะปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2567 ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นั่นคือ การบริการโรงแรมและที่พักในพื้นที่ 10 จังหวัด
โดยการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประเภทกิจการโรงแรม เพื่อใช้สำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 400 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 นำร่องในเขตพื้นที่จังหวัด 10 จังหวัด
ล่าสุดความคืบหน้าของการดำเนินการตามขั้นตอนต่อจากนี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้สอบถามไปยังนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับคำตอบว่า กระทรวงแรงงาน ได้เสนอเรื่องการปรับขึ้น “ค่าจ้างขั้นต่ำ” รอบใหม่ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
“หลังจากคณะกรรมการค่าจ้าง เห็นชอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รอบใหม่ประเภทกิจการโรงแรมในพื้นที่นำรอง 10 จังหวัดแล้ว กระทรวงแรงงานได้เสนอผลประชุมมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าในการประชุมครม. วันที่ 2 เมษายน 2567 นี้ จะได้รับความเห็นชอบและจะประกาศอีกครั้ง เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งจะเป็นของขวัญวันสงกรานต์ให้กับแรงงาน” นายพิพัฒน์ ยืนยันกับฐานเศรษฐกิจ
สำหรับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยให้ปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 400 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 นำร่องในเขตพื้นที่จังหวัด 10 จังหวัด ดังนี้
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ระบุก่อนหน้านี้ถึงเหตุผลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รอบใหม่ว่า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ขณะที่ธุรกิจการให้บริการที่พักแรมมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และ 10 พื้นที่หรือจังหวัดทั้งหมดเป็นพื้นที่จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง
โดยพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะได้มีการติดตามผลกระทบที่เกิดจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เพื่อนำไปสู่การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างด้วยความรอบคอบต่อไป