นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า หากพิจารณาเฉพาะปี 2567 พบว่ามีการลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมในช่วง 3 เดือนแรกของปีแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังวิกฤตโควิค-19
ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบาย Ease of doing business โดยให้หน่วยงานที่ออกใบอนุญาต พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในไทยได้รับความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตามปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าการลงทุนจากการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมไปแล้วกว่า 255,586.74 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลการออกใบอนุญาต รง.4 ในปี 2565 – 2566 พบว่า กรอ.มีการออกใบอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานที่มีขนาดใหญ่จำนวนกว่า 800 โรงงานต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563 - 2564 โดยเฉพาะในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (นอกนิคมฯ) จำนวน 2,598 โรงงาน
มูลค่าการลงทุนกว่า 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 23% เมื่อเทียบกับปี 2565 และเกิดการจ้างงานกว่า 106,631 คน สอดรับกับการที่บีโอไอ (BOI) ได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 มูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน
นายจุลพงษ์ กล่าวอีกว่า กรอ. ได้ดำเนินการยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล โดยได้เร่งนำระบบอนุญาตออนไลน์ (Digital-License) ของกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้งานในทันที เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน
สอดคล้องกับบริบทสังคมดิจิทัลและรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลงทุนของโรงงานขนาดใหญ่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% ตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน
"ปัจจุบันมีการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 22 โรงงาน แสดงให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม"