เปิดทิศทางเศรษฐกิจตลาดเอเชีย ปี 68 ท่ามกลางสงครามเทรดวอร์

27 ธ.ค. 2567 | 07:57 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2567 | 08:07 น.

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก รายงานสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ปี 2025 ผ่านมุมมองตลาดเอเชีย เศรษฐกิจชะลอตัว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก กรมส่งเสรอมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ทิศทางสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ปี 2025 ผ่านมุมมองตลาดเอเชีย ในมุมมองของ Goldman Sachs เห็นว่าเมื่อปีที่ผ่าน ตลาดในเอเชียได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตที่แข็งแกร่งและธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการผ่อนปรนนโยบาย

อย่างไรก็ดีในปี 2025 แม้ว่าจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมและ FED น่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่ควรคำนึงถึง เช่น ความไม่แน่นอนด้านการค้าและภาษีหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงการที่ค่าเงินดอลลาร์ มีการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดใหม่ในเอเชีย 

ทั้งนี้ ปี 2025 คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียน่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย และจีนจะเน้นไปที่อุปสงค์การบริโภคภายในประเทศมากขึ้น การเติบโตของภาคการส่งออกในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนอาจมีการชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสรรคทางด้านภาษีของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งน่าจะมีการเพิ่มภาษีจีนขึ้นอีกเฉลี่ยประมาณ 20% 

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม หากสามารถรอดพ้นจากมาตรการขึ้นภาษีได้ อาจได้รับประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานทางการค้า ซึ่งทำให้เวียดนามอาจหลีกเลี่ยงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้

สำหรับตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แม้จะมีการเติบโตช้าหรือซบเซาในปี 2024 แต่คาดว่าในปี 2025 อุปสงค์ภายในประเทศและ GDP น่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนค่าจ้างและการบริโภคมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในตลาดเอเชียน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ราคาน้ำมันดิบได้เข้าใกล้ระดับต่ำสุดตามที่ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ไว้ คือ อยู่ที่ 70-85 เหรียญดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีความเสี่ยงที่สำคัญ ในระยะสั้น อาจมีการหยุดชะงักของอุปทานในอิหร่านส่งผลต่อราคาที่จะสูงขึ้น และในระยะกลาง ที่ราคามีแนวโน้มขาลงเนื่องจากยังคงมีกำลังการผลิตสำรองในส่วนอื่นอีก 

ขณะที่ราคาสินค้าอาหารในบางประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะเกิดชั่วคราวจากสภาพอากาศที่แปรปรวนของวัฏจักร “ลานีญา” และการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งหลังจากการห้ามส่งออกเป็นระยะเวลา 15 เดือน ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน หากมีการบังคับใช้ภาษีของสหรัฐฯ กับจีน เชื่อว่าสินค้าส่วนเกินของจีนน่าจะมีการไหลทะลักเข้าไปสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

นอกจากนี้ ในปี 2025 การเติบโตของจีนจะมุ่งเน้นไปที่อุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น โดยการผสมผสานระหว่างมาตรการภาษีและนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ แม้การชะลอตัวจากภาคที่อยู่อาศัยยังคงมีผลกระทบใหญ่ แต่คาดว่าจะเริ่มบรรเทาลงในอนาคต ขณะเดียวกันการส่งออกคาดว่าน่าเริ่มจะชะลอตัวลงจากการขยายตัวที่รวดเร็วในปีที่ผ่านมา ซึ่งการส่งออกน่าจะยังคงดำเนินไปอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าเนื่องจากบริษัทต่างๆ พยายามเร่งการส่งออกสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีของสหรัฐฯ ที่น่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม มาตรการเพิ่มภาษีของสหรัฐฯ ครั้งใหม่กับจีนคาดว่าน่าจะเป็นตัวแปรที่ให้ GDP ของจีนลดลงมาอยู่ที่ ประมาณ 0.7% แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินหยวนอาจช่วยชดเชยบางส่วน (USD/CNY น่าจะอยู่ที่ 7.40-7.50 หลังการกำหนดอัตราภาษีครั้งใหม่) แต่การอ่อนค่าของเงินหยวนครั้งนี้อาจทำให้จีนระมัดระวังผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินหรือผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น 

ขณะที่ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ (Reflation) การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2025 น่าจะสูงกว่า 1% อย่างไรก็ดี ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ นับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อญี่ปุ่น เนื่องจาก หากมีการขึ้นภาษีรถยนต์จากญี่ปุ่น 10% คาดการณ์ว่าจะทำให้การส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ ลดลงประมาณ 10% ซึ่งจะทำให้ GDP ของญี่ปุ่นลดลงประมาณ 0.1%-0.2

ด้าน อินเดีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยน่าจะมีอัตราเติบโตที่ 5-6.5% โดยอาศัยแรงหนุนจากปัจจัยทางด้านประชากรที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่สูง เนื่องจากมีระดับรายได้ต่อหัวที่ต่ำกว่าหรือยังไม่เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วและอินเดียมีความทนทานต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกมากขึ้นกว่าหลายปีก่อน 

สำหรับทิศทางภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่อาจพิจารณาการจัดการกับประเทศเอเชียที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมากโดยเฉพาะเวียดนาม เกาหลีใต้และไต้หวันที่มีการขยายตัวของการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ การขู่เก็บภาษีนำเข้าอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและค่าเงินในเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งหากมีการขึ้นภาษีในประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กที่เน้นการส่งออกในเอเชีย จะทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากภาษีมากกว่าจีน เพราะการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ของประเทศเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนของ GDP ที่สูงกว่าจีนหลายเท่า นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯ และทั่วโลกได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของภาษีทั่วโลกที่อาจส่งผลต่อการเติบโตและเงินเฟ้อซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ และมีความน่าจะเป็นถึง 40% แต่ไม่ใช่สมมุติฐานหลัก อย่างไรก็ดี การดำเนินการนี้อาจใช้เวลานานกว่าการเก็บภาษีที่มุ่งเป้าไปที่จีน