ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รัฐบาลพยายามหาทางดึงเอกชนจากทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศชั้นนำในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการ เข้ามาลงทุนในประเทศ ล่าสุดได้หารือกับผู้แทนบริษัท Korea Land & Housing Corporation (LH) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และคมนาคม ประเทศเกาหลีใต้ สนใจเข้ามาตั้งนิคมอุตสาหกรรมของนักลงทุนเกาหลีใต้ในไทย มูลค่าการลงทุนหลักหมื่นล้านบาท ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
สำหรับการสนใจเข้ามาลงทุนของรัฐวิสาหกิจจากเกาหลีใต้ ในพื้นที่ EEC ครั้งนี้ ผู้แทนการค้าไทย ระบุว่า LH ต้องการเข้ามาหาพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมของนักลงทุนเกาหลีใต้ เนื้อที่ประมาณ 800-1,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งหากจัดหาพื้นที่ได้เสร็จก็พร้อมนำนักลงทุนจากบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งบริษัทผลิตรถไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG
“LH ต้องการนำเอาบริษัทผลิตรถไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และเล็งเห็นถึงความพร้อมอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรและบริษัทในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งในระยะถัดไปมีความสนใจขยายการลงทุนในไทยมากกว่าจะไปขยายเพิ่มในเวียดนาม” ผู้แทนการค้า ระบุ
ทั้งนี้รัฐบาลได้ขอให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ช่วยประสานความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจของเกาหลีใต้ เพื่อหารือพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในไทยในพื้นที่ EEC ซึ่งการหารือทั้งหมดนั้นก็อยากให้เสร็จสิ้นก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำคณะเดินทางไปเยือนเกาหลีใต้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 นี้
ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า เบื้องต้นในการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมนั้น ยังพบปัญหาที่ดินราคาสูงและยากต่อการหาพื้นที่ เกาหลีใต้จึงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อสามารถทำการตกลงความร่วมมือการลงทุนกับ กนอ. และเอกชนไทย
โดยยอมรับว่าหากข้อตกลงบรรลุผลจะมีบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมาก พร้อมทั้งต้องการที่จะสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของไทย-เกาหลี ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้รับทราบความต้องการของนักลงทุนเกาหลีใต้แล้ว ซึ่งได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารของ กนอ. รับไปดำเนินการ แต่ตอนนี้การจัดหาพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมยังมีปัญหาทั้งเรื่องพื้นที่ในจังหวัดชลบุรีมีจำกัด และราคาค่อนข้างสูง หรือในอีกตัวเลิอกก็อาจเป็นพื้นที่จังหวัดระยอง แต่ทั้งหมดคงต้องหารือกันอีกครั้ง คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบข้อมูลสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรายเดือนสะสมปี 2566 (มกราคม-ธันวาคม) ของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ พบว่า จากสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในปี 2566 ที่มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 663,239 ล้านบาทนั้น เกาหลีใต้ อยู่ในอันดับที่ 7 ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 25 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 38,418 ล้านบาท