บีโอไอ จัดคณะบุกแดนมังกร ดึง 10 ยักษ์แบตเตอรี่ ปักฐานลงทุนไทย

04 เม.ย. 2567 | 04:06 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2567 | 04:19 น.

บีโอไอ จัดคณะโรดโชว์จีน เล็งเป้าดึง 10 ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกลงทุนตั้งฐานผลิตแบตเตอรี่ต้นน้ำระดับเซลล์ในไทย ดึงลงทุนรถ EV เสริมแกร่งซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ตามนโยบายของบอร์ดอีวี เผย รง.แบตเตอรี่ขอส่งเสริมลงทุนแล้วมูลค่ากว่า 25,000 ล้าน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอเตรียมจัดคณะโรดโชว์เพื่อดึงการลงทุนจากประเทศจีน ณ มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 7 – 10 เมษายน 2567 ในการโรดโชว์ครั้งนี้ จะพบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแบตเตอรี่ยักษ์ใหญ่ของจีน ที่ล้วนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ 10 อันดับแรกของโลก

อาทิ บริษัท Contemporary Amperex Technology (CATL), China Aviation Lithium Battery (CALB), Inpow Battery Technology (IBT), Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology โดยบีโอไอจะนำเสนอศักยภาพ ด้านการลงทุนของประเทศไทย พร้อมทั้งสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนของรัฐ นอกจากนี้ ยังจะพบกับบริษัท XPeng Motor ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ ที่เพิ่งเปิดตัวในประเทศไทยในงานมอเตอร์โชว์ปีนี้ เพื่อหารือแผนการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระยะต่อไปด้วย

ปัจจุบันบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมในกิจการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น 103 โครงการ เงินลงทุนกว่า 77,000 ล้านบาท โดยเป็นการส่งเสริมในกิจการผลิตแบตเตอรี่ 40 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า 24 โครงการ เงินลงทุนรวม 13,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง (High-Density Battery) สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ 16 โครงการ เงินลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท โดยโครงการเกือบทั้งหมดเป็นการผลิตในขั้นโมดูลและแพ็คเท่านั้น ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะดึงบริษัทชั้นนำของโลกมาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย

"การโรดโชว์ครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนที่จะมุ่งเจาะกลุ่มบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกจากจีน เพื่อดึงให้เข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเข้มแข็งและเติมเต็มซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะทำให้ไทยเป็น Hub ของการผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร อีกทั้งยังช่วยต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่ต้องใช้แบตเตอรี่ในระบบกักเก็บพลังงานด้วย"นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับที่มาของการโรดโชว์ครั้งนี้เป็นไปตามคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อมาคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (บอร์ดกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ) ซึ่งมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริม การลงทุนตามมาตรการดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

“การจัดคณะโรดโชว์ดึงการลงทุนครั้งนี้ จะนำมาตรการข้างต้นไปนำเสนอเพื่อดึงการลงทุนจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง อีกทั้งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า”

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก โดยได้กำหนดเงื่อนไขในการขอรับการส่งเสริม 4 ข้อ คือ 1. ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 2.ต้องเป็นการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า แต่ทั้งนี้ สามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงานในโครงการเดียวกันด้วยก็ได้ 3.ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg และ 4.ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ

ผู้ลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจะได้รับสิทธิประโยชน์หลายด้าน เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาสูงสุดไม่เกิน 15 ปี ยกเว้นภาษีจากเงินปันผล ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ลดหย่อนอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 90 ของอัตราปกติสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา

นอกจากนี้ ยังจะได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา หรือการพัฒนาบุคลากร สำหรับวิธีการให้สิทธิประโยชน์จะเป็นรูปแบบ การเจรจาเป็นรายโครงการ โดยในการเจรจา คณะกรรมการจะคำนึงถึงแผนการลงทุน ขนาดกำลังการผลิต การเชื่อมโยงและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระดับของเทคโนโลยี แผนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การจ้างงานและการพัฒนาบุคลากร และประเด็นอื่น ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ ห่วงโซ่อุปทานและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ