5 เมษายน 67 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่จังหวัดสมุทรสาครโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า มีกากแคดเมียมและกากสังกะสี จำนวนมากอยู่ในพื้นที่โรงงาน บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ได้รับรายงานจากนายผล ดำธรรม ผู้ว่าฯสมุทรสาคร หลังจากการลงพื้นที่พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบบริษัทดังกล่าว
ทราบข้อเท็จจริงว่า บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานถูกต้องตามกฎหมายมีทั้งสิ้น 3 ใบอนุญาต โดยทั้งหมดประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะประเภทต่าง ๆ จากการตรวจสอบโรงงานแห่งที่ 1 ตั้งอยู่เลขที่ 132 หมู่ที่ 2 พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็คสีขาวจำนวนประมาณ 1,300 ถุง และพบอยู่ภายนอกโรงงานอีก 100 ถุง เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมที่อยู่ภายนอกเข้าไปในโรงงานโดยเร็วที่สุด
ในส่วนโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงานแห่งที่ 1 พบกากอลูมิเนียมอยู่ภายในโรงงาน และมีกากแคดเมียมและกากสังกะสี จำนวน 9 ถุง เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสีดังกล่าวไปเก็บไว้ที่โรงงานแห่งที่ 1 โดยด่วน ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ไปตรวจสอบโรงงานแห่งที่ 3 ตั้งอยู่เลขที่ 136/2 หมู่ที่ 2 พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีอีก 227 ถุง อยู่ภายในโรงงาน
ขณะนี้ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงนามประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 4 เม.ย.67 ห้ามมิให้บุคคลใด ๆ เข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงาน บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการควบคุมและตรวจสอบ พร้อมดำเนินการตามมาตรการทางความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าวต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ มีความเห็นว่า กากแคดเมียมและกากสังกะสีดังกล่าวอาจจะผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% เพื่อทำลายฤทธิ์ ปัจจุบันอยู่ในสถานะแข็งตัวและเสถียร หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิดและไม่มีการชำระล้าง จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ทางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาครได้มีการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน หรือประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย ขอเรียนว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ขณะนี้ทางจังหวัดสมุทรสาครได้มีเพียงประกาศห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงาน บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 132 และ 136/2 หมู่ที่ 2 ซ.กองพนันพล ถ.เอกชัย ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร เป็นระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไปเท่านั้น นางสาวไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า ทางกระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย ร.ต.ต.สัณฐิติ ธรรมใจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด และดำเนินการสืบสวนว่า การกระทำนี้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ 7หากพบมีการกระทำความผิดทางจังหวัดสมุทรสาครจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชน ขอให้ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวอย่างเคร่งครัดพร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิดและรับฟังข่าวสารที่เป็นความจริงเท่านั้น หากมีความคืบหน้าทางกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดสมุทรสาครจะเร่งแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป
ด้านนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชน ที่อยู่ในรัศมีการลักลอบขนย้ายสารเคมีแคดเมียมที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง จำนวน 15,000 ตัน ที่จังหวัดสมุทรสาครว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนและไม่นิ่งดูดาย เบื้องต้นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงสาธารณสุข เข้าดูแลและควบคุมสถานการณ์อย่างทันท่วงที
ล่าสุด วันนี้ (5 เม.ย.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่สมุทรสาครเพื่อกำกับดูแลการบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็ว พร้อมทั้งวางมาตรการเพื่อควบคุมสารอันตรายเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เดินหน้าสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ห้ามนำกากแคดเมียมและกากสังกะสีเข้าสู่กระบวนการผลิต พร้อมทั้งอายัดกากแคดเมียม กากสังกะสี และส่วนของอื่น ๆ ไว้เพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สั่งการด่วนให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (DSS Team) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ พร้อมลงพื้นที่และให้การสนับสนุนภารกิจกรณีกากแคดเมียมที่สมุทรสาคร เพื่อร่วมเฝ้าระวังควบคุมป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเข้าตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีที่เกิดเหตุการณ์ รวมถึงสั่งการไปยังกรมควบคุมมลพิษให้เก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหาสารปนเปื้อนทั้งในโรงงาน ในอากาศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรายงานผลให้ประชาชนรับทราบโดยด่วน อีกทั้งยังสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบโรงงานถลุงแร่ว่ามีการจัดทำ EIA และได้ปฏิบัติตามมาตรการ EIA ที่กำหนดหรือไม่
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรสาคร เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านสถานที่และผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม นอกจากนั้นได้เดินหน้า ตรวจสุขภาพพนักงานที่ทำงานและเป็นกลุ่มผู้สัมผัสและกลุ่มเสี่ยง นอกจากนั้นมีการกำหนดให้มีทีมงานด้านจิตใจลงพื้นที่เพื่อประเมินสุขภาพจิตของประชาชนอีกด้วย
"รัฐบาลทำงานกันเป็นทีม ร่วมมือกันดูแลและให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเดินหน้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีการทำความผิดจริง ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดและโปร่งใส่ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังชื่นชมผู้ว่าราชการ จังหวัดสมุทรสาครอีกด้วยที่ ประกาศเขตภัยพิบัติทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ ทางรัฐบาลพร้อมสนับสนุนส่งผู้เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่" รองโฆษกรัดเกล้าฯ กล่าวเสริม