วันที่ 13 เมษายน 2567 นอกจากจะเป็นวันแรกของเทศกาลวันสงกรานต์ แล้ว ยังมีความสำคัญเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ของประเทศไทย โดยปัจจุบันโครงสร้างประชากรไทย ได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือน มกราคม 2567 ระบุว่า คนไทยที่อายุมากกว่า 60 ปี มีด้วยกันทั้งสิ้น 13.2 ล้านคนคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด
ขณะเดียวกันยังประเมินสถานการณ์ในอนาคตว่า หลังจากในปี 2562 สัดส่วนประชากร วัยเด็กและผู้สูงอายุ มีสัดส่วนเท่ากัน อยู่ที่ประมาณ 17% แต่ทิศทางในปี 2580 วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 14.3% แต่ผู้สูงอายุ กลับเพิ่มขึ้นถึง 29.85% โดยที่อัตราเร่งของกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สูงกว่าวัยเด็กและวัยแรงงานที่ลดลงด้วย
อีกข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ประเด็นด้านการเงินของกลุ่มผู้สูงอายุ สศช. ได้จัดทำรายงานแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2580) ระบุว่า คนไทยยังมีปัญหาการไม่มีความมั่นคงทางการเงินภายหลังการเกษียณ
แม้ผลการสํารวจพฤติกรรมทางด้านการเงินด้านการออมของ คนไทยในปี 2563 พบว่า คนไทยมีทักษะทางการเงิน อยู่ที่ 71% เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 61% และมีทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้านสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD เป็นปีแรก แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องการออมนั้น พบว่า แม้ว่าจะมีความตระหนักเรื่องการออมสูงขึ้น แต่จำนวนคนที่สามารถออมได้ตามแผนที่ตั้งไว้มีเพียง 17.8% ลดลงจาก ปี 2561 (18.6%)
ทั้งนี้ พบว่า เจเนอเรชัน Baby Boomer เป็นกลุ่มที่ออมมากที่สุด อีกทั้งประชาชนทั่วไปยังมีการเข้าสู่ระบบหลักประกันและระบบการออมค่อนข้างน้อย โดยเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพียง 2.4 ล้านคน (ณ พฤษภาคม 2564)
หากพิจารณากลุ่มประชากรที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศ พบว่า ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของการไม่มีเงินออม คือ 52.3% รายได้ไม่พอเหลือไว้ออม 24.2% มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน และ 18.6% มีภาระหนี้สิน
ขณะที่จำนวนหนี้สินครัวเรือนทั่วประเทศมีทิศทางปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มวัยเริ่มทำงาน (ช่วงอายุ 25 - 35 ปี) มีแนวโน้มเป็นหนี้เร็วขึ้น และคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง โดยกว่าครึ่งหนึ่งมีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและหนี้บัตรเครดิต ซึ่งลูกหนี้ในกลุ่มนี้มีสัดส่วนการเป็นหนี้เสียสูง ถึง 1 ใน 5
การมีรายได้ไม่เพียงพอ การมีภาระหนี้สิน และการขาดทักษะทางการเงิน ล้วนเป็นอุปสรรคทางด้านการออมของคนไทย และมีแนวโน้มที่ทำให้คนไทยเลือกที่จะออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉินมากกว่าการออมในระยะยาวเพื่อการใช้ชีวิตหลังจาก เกษียณอายุ
นอกจากนี้ อัตราการสมทบหรือมาตรการช่วย เหลือแบบให้เปล่าจากภาครัฐยังไม่สามารถนำไปสู่จำนวนเงินที่เพียงพอเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณได้ จากข้อมูลของ OECD ในปี 2018 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการทดแทนรายได้หลังเกษียณที่ 37.5% (ค่าเฉลี่ยของ OECD อยู่ที่ 52%)
สอดคล้องกับการศึกษาของ Deloitte & Touche Consulting Group ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ระบุระดับรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ โดยอัตราทดแทนรายได้หลังเกษียณ (Replacement Rate) ของไทยควรอยู่ที่ 50 - 60%
ทั้งนี้หากพิจารณารายได้หลังเกษียณในหลักประกันประเภทต่าง ๆ จะพบว่ามีเพียงข้าราชการที่จะมีรายได้เพียงพอที่ 50 - 70% ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายเท่านั้น อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีระบบ การออมภาคบังคับสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่งมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้คนไทยหลายคนยังไม่มีหลักประกัน ด้านรายได้
ในปี 2564 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังคงทำงานมีประมาณ 1 ใน 3 โดยเป็นผู้ชาย 44.4% และผู้หญิง 26.7% ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลมีการทำงานในสัดส่วนสูงกว่าในเขตเทศบาล หากจําแนกเป็นภูมิภาค พบว่า ภาคใต้มีสัดส่วนสูงที่สุด ขณะที่กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนที่ต่ำที่สุด
ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยไม่มีลูกจ้าง 64.8% และช่วยธุรกิจครัวเรือน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง 18.8% โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม รองลงมาคือภาคการบริการและการค้า
ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่มีมากถึง 47.3% เนื่องจากสุขภาพยังแข็งแรง/ยังมีแรงทำงาน อีก 44.6% ต้องการหา รายได้เพิ่มเพื่อเลี้ยงครอบครัวหรือตนเอง
เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดด้านการทำงานของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปพบว่ามีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆอาทิการนั่งยองการเดิน 200-300 เมตร การยกสิ่งของประมาณ 5 กิโลกรัม มากถึง 24% ในเพศชาย และ 41% ในเพศหญิง
อีกทั้งจำนวนหนึ่งยังมีปัญหาในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การใช้ห้องน้ำ การแต่งตัว การลุกขึ้นจากท่านอน และปัญหาการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันซับซ้อน ได้แก่ การนับเลข การขึ้นรถบัส และการกินยา สาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานบางส่วนไม่สามารถทำได้
พร้อมกันนี้ยังพบว่า ในปี 2562 มีผู้สูงอายุประมาณ 628,800 คน ที่มีภาวะสมองเสื่อม (เพศชาย 186,040 คน และเพศหญิง 442,760 คน) นอกจากนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังมีความเปราะบางเรื่องระบบการดูแล โดย 49.8% อาศัยกับคู่สมรส 25.8% อาศัยอยู่ในครัวเรือนข้ามรุ่น และ 23.2% ต้องอาศัยอยู่ตามลำพัง
จากการสำรวจผู้สูงอายุในปี 2564 พบว่า มีผู้สูงอายุที่มีรายได้ ต่ำากว่าเส้นยากจนถึง 34% หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งแหล่งรายได้ในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจากการทำงาน 32.4% จากบุตร 32.2% และ เบี้ยยังชีพ 19.2%
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุประมาณ 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท และมีแนวโน้มอยู่คนเดียวตามลำพังเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2557 เป็น 12% ในปี 2564 และอยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเพิ่มขึ้นจาก 20.6% เป็น 21.1% อีกทั้ง หากจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามรายได้ต่อปี พบว่า มากกว่า 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี
จากรายงานเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านการเงินและสุขภาพในสังคมอายุยืนของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า คนรายได้ปานกลางอาศัยในเขตเมืองจะต้องเก็บออมเงินประมาณ 4.3 ล้านบาท เมื่ออายุ 60 ปี ถึงจะมีเงินเพียงพอใช้จ่ายจนถึงอายุ 100 ปี
ส่วนคนรายได้ปานกลาง ที่อาศัยในเขตชนบทจะต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในปี 2562 พบว่า มีครัวเรือนเพียง 1.2 แสนครัวเรือนเท่านั้น ที่มีรายได้สูงกว่า 2.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของครัวเรือนทั้งประเทศ
โดยสรุป จะเห็นได้ว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากหลาย ภาคส่วนในการดำาเนินการ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากร แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันและการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า ยังมีช่องว่างการดำเนินการหลายประเด็นที่ยังต้องจัดการ
ประกอบกับในช่วงระยะเวลาต่อไป อัตราการสูงวัยของประเทศไทยจะมีแนวโน้มสูงขึ้น มีผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่คุณภาพของประชากรและการยกระดับคุณภาพประชากรในช่วงที่ผ่านมายังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม
ดังนั้นการปรับกลยุทธ์และเพิ่มความเข้มข้นการดำเนินการ จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป