‘มนพร’ดันแผนฟื้นฟู ขสมก.เช่าอีวี3.3พันคัน2.5หมื่นล้าน

18 เม.ย. 2567 | 00:49 น.

“มนพร”ดัน เต็มสูบแผนขับเคลื่อนภายใต้แผนฟื้นฟู ขสมก. ลุยจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด (EV) 3.3 พันคัน 2.5 หมื่นล้าน ดีเดย์ชงครม.เคาะพ.ค.นี้ หลังบอร์ดไฟเขียว เล็งให้บริการล็อตแรก ต.ค.67 หวังประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง-เหมาซ่อม 2,400 ล้านต่อปี

 

แผนขับเคลื่อนภายใต้แผนฟื้นฟู กิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยกระทรวงคมนาคม เร่งจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด(EV)รูปแบบการเช่า เพื่อลดงบประมาณ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในระยะยาว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ดขสมก.) ครั้งที่ 3/2567 มีมติอนุมัติโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด จำนวน 3,390 คัน

ภายใต้แผนขับเคลื่อนภายใต้แผนฟื้นฟู ขสมก. (BMTA Moving Plan) โดยจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาได้ภายในเดือนเมษายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนพฤษภาคม 2567

ทั้งนี้ขสมก.จะเริ่มดำเนินโครงการเช่ารถโดยสาร NGV ระยะที่ 1 จำนวน 350 คัน ภายในเดือนสิงหาคม 2567 คาดว่าจะเริ่มให้บริการรถโดยสารล็อตแรกภายในเดือนตุลาคม 2567

แหล่งข่าวจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า “ส่วนสาเหตุที่ขสมก.เช่ารถโดยสารปรับอากาศ NGV ในระยะที่ 1 เนื่องจากรถโดยสารปรับอากาศ EV ต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนมากและต้องใช้กระแสไฟฟ้าที่มีกำลังสูง ดังนั้นการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนมากในช่วงระยะเวลาอันสั้นจึงไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งขสมก. มีสถานีบรรจุก๊าซอยู่ในอู่รถอยู่แล้ว”

 ขณะเดียวกันขสมก. มีการควบคุมอัตราค่าโดยสารเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้ ขสมก. ดังนั้นจึงนำภาระการชำระค่าตอบแทนมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาในการจัดหารถ ปัจจุบัน ขสมก. มีรายได้ค่าโดยสาร และ อื่น ๆ ประมาณ 3,300 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามการได้รถโดยสารใหม่จะนำมาซึ่งการจ่ายค่าโดยสารผ่านระบบ Application ทำให้ขสมก.สามารถนำพนักงานไปเพิ่มศักยภาพได้ รวมทั้งต้นทุนในการรับพนักงานใหม่จะลดน้อยลงจากอัตราการเกษียณ ประมาณ 700 คนต่อปี หากสามารถจัดหารถได้จะทำให้การพัฒนาขีดความสามารถของพนักงานและลดสัดส่วนพนักงานส่งผลให้ ขสมก. ลดการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องและขาดทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อ ขสมก. ในระยะยาว และทำให้ ขสมก. สามารถดำรงความเป็นผู้ประกอบการรถโดยสารที่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงต่อไป

  สำหรับแผนขับเคลื่อนภายใต้แผนฟื้นฟู ขสมก. (BMTA Moving Plan) ปัจจุบันได้แบ่งแผนการจัดหารถโดยสารออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.โครงการเช่ารถโดยสาร NGV จำนวน 350 คัน วงเงิน 2,350 ล้านบาท ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ในระยะเร่งด่วน (ปี 2567-2571) ระยะเวลาเช่า 5 ปี โดยเป็นการเช่ารถโดยสารเพื่อเป็นรถเสริมระหว่างรอการบำรุงรักษาและเป็นรถสำรองสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ในอนาคต สอดคล้องกับอายุของใบอนุญาตเดินรถโดยสารประจำทางของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งขสมก. มีสถานีบริการ NGV อยู่แล้ว ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม

ปัจจุบันขสมก.มีรถโดยสาร NGV จำนวน 487 คัน ที่จอดเสียและรอการซ่อมบำรุง หากขสมก.หาผู้รับจ้างซ่อมใหม่พร้อมอะไหล่แล้วเสร็จ ทำให้มีรถโดยสาร NGV ที่ให้บริการในระยะแรกรวม 837 คัน ในระหว่างที่ซ่อมรถโดยสาร NGV นั้น ขสมก.จะเช่ารถโดยสาร NGV จำนวน 350 คัน ในระยะที่ 1 มาให้บริการแก่ประชาชนก่อน

 2. โครงการเช่ารถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวน 1,520 คัน วงเงินรวม 23,094 ล้านบาท ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ในระยะที่ 2 (ปี 2568-2574) ระยะเวลาเช่า 7 ปี โดยเป็นการทดแทนรถโดยสารธรรมดาเครื่องยนต์ดีเซลของ ขสมก. ที่มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 33 ปี ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ ทางเสียงและอากาศและเป็นแนวทางการศึกษาและเตรียมความพร้อมในการขาย Carbon Credit

3.โครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) จำนวนไม่เกิน 1,520 คัน ในระยะที่ 3 (ปี 2569-2582) โดยเป็นการจัดหารถโดยสารปรับอากาศและทดแทนรถโดยสารเดิมที่มีอายุการใช้งานนานและการพัฒนาพื้นที่อู่เชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในรูปแบบการร่วมลงทุน PPP ระหว่าง ขสมก. และเอกชน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาวงเงินของโครงการฯ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 14 ปี แบ่งออกเป็น 2 สัญญา ดังนี้ สัญญาที่ 1 มีระยะเวลา 7 ปี และสัญญาที่ 2 มีระยะเวลา 7 ปี สอดคล้องกับแผนบรรจุรถโดยสารตามข้อกำหนดขั้นต่ำ-สูงของกรมการขนส่งทางบก. (ขบ.) ที่ขาดในระยะที่ 2

 ด้านผลการวิเคราะห์ทางการเงินและความคุ้มค่าทางการเงินในการเช่ารถโดยสารตามแผนขับเคลื่อนฯ พบว่า การเช่ามีความคุ้มค่าของเงิน (VfM) สูงที่สุด โดยการเช่ารถโดยสาร NGV เท่ากับ 603 ล้านบาท และการเช่ารถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) เท่ากับ 3,832 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาการดำเนินการเร็วที่สุดประมาณ 1 ปี ซึ่งมีภาระด้านงบประมาณและหนี้สาธารณะ ประมาณ 3,600 ล้านบาทต่อปี

เมื่อเทียบกับการซื้อรถโดยสารพบว่ามีต้นทุนและค่าใช้จ่ายทางการเงิน ในการซื้อรถโดยสาร NGV เท่ากับ 1,367 ล้านบาท และการซื้อรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า (EV) เท่ากับ 12,770 ล้านบาท ซึ่งต้องลงทุนภายใน 1-2 ปี เนื่องจากอาจจะต้องรองบประมาณและระยะเวลาในการผลิตรถโดยสาร โดยมีมูลค่าประมาณ 18,400 ล้านบาท

 แหล่งข่าวจากขสมก.กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ขสมก. มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดหารถโดยสารตามแผนขับเคลื่อนฯ เนื่องจากรถโดยสาร ณ ปัจจุบันของ ขสมก. ใช้เชื้อเพลิงหลักเป็นดีเซล และ NGV โดยคิดเป็น 1,600 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้การปรับเป็นรถโดยสารไฟฟ้าจะสามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงประมาณ 1,100 ล้านบาทต่อปี และลดค่าใช้จ่ายในการเหมาซ่อมประมาณ 1,900 ล้านบาทต่อปี

เมื่อรวมค่าเชื้อเพลิงและค่าเหมาซ่อมจะสามารถประหยัดลงได้จะรวมกันอยู่ที่ 2,400 ล้านบาทต่อปีหากขสมก.ไม่สามารถจัดหารถโดยสารได้จะส่งผลต่อการให้บริการของรถโดยสารประจำทางของ ขสมก.ในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาสัญญาเหมาซ่อมรถโดยสารปรับอากาศสีฟ้า BONLUCK (BLK) ทำให้ขสมก. เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด 50,000 บาทต่อคัน-วัน รวมทั้งรายได้ค่าโดยสารลดลงจากจำนวนรถที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งขสมก. อาจเสียสิทธิในการเป็นผู้ประกอบกิจการเดินรถ เนื่องจากไม่สามารถบรรจุรถได้ตามเกณฑ์ข้อกำหนด ทำให้ขสมก.ต้องแบกรับพนักงาน 14,000 คนและอาจปิดตัวลงในที่สุด

แผนฟื้นฟูขสมก.