นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังทบทวนการจัดเก็บภาษีมรดกใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม หลังจากที่ผ่านมามีการประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่ายังเก็บภาษีได้ไม่มากนัก เพราะเป็นภาษีชนิดใหม่
ทั้งนี้ ในช่วงแรกกระทรวงการคลังไม่อยากเข้มงวดมากเกินไป โดยเฉพาะในส่วนเงื่อนไข ข้อยกเว้นต่างๆ ที่อยู่ในภาษีมรดกอาจมีการปรับลดลง และให้บังคับใช้เข้มงวดขึ้น เช่น การจัดเก็บมรดกเฉพาะในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ก็อาจต้องดูให้เกิดความเหมาะสม
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการคลัง ได้เริ่มออกกฎหมายจัดเก็บรายได้ภาษีมรดก ตั้งแต่ปี 2558 โดยเป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่ามรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก โดยที่ผู้รับมรดกเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี และมักจะมีการกำหนดค่าลดหย่อนและอัตราภาษีที่เป็นประโยชน์กับผู้รับมรดกที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ตาย ทำให้ผู้รับมรดกที่มีความใกล้ชิดกับผู้ตายมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้รับมรดกแต่ละคนมากกว่า
ปัจจุบัน นับตั้งแต่เริ่มจัดเก็บภาษีมรดกเพิ่งมีรายได้รวม 3,643 ล้านบาท ส่วนใหญ่เก็บได้หลักร้อยล้าน และเพิ่งเก็บได้เกิน 1,000 ล้านบาท ในปี 2567
สำหรับภาษีมรดก ปัจจุบันเก็บภาษีมรดก 10% ของมูลค่าสินทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขยกเว้น อาทิ การจัดเก็บภาษีจะเก็บเฉพาะมรดกในส่วนที่มีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อคน ทำให้กลายเป็นช่องที่หลีกเลี่ยงภาษีได้ อาทิ บิดาเสียชีวิตมีมรดกอยู่ 300 ล้านบาท แบ่งให้ลูก 2 คนๆละ 100 ล้านบาท และญาติอีกคน 100 ล้านบาท
เท่ากับว่ามรดกดังกล่าวจะไม่มีภาระภาษีเลย เนื่องจากได้รับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรณีหากมรดกเกิน 100 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน เช่น ลูกจะได้ลดภาษีเสียเพียง 5% แต่ผู้ที่ไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของผู้ส่งมอบมรดก จะต้องเสียภาษี 10%
ขณะเดียวกัน ยังระบุทรัพย์สินมรดกที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน ทรัพย์สินทางการเงิน ส่วนมรดกที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น เงินสด ทองคำ เครื่องเพชร พลอย ของสะสมของโบราณ และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้เกิดการเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนการถือครองทรัพย์สินเป็นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เช่น เปลี่ยนเป็นเงินสด ทองคำ หรือเครื่องเพชร แทนได้
ขณะที่ข้อยกเว้นการเสียภาษีมรดกอื่นๆ อาทิ เจ้าของมรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณะประโยชน์ หรือ หน่วยงานรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือ กิจการสาธารณะประโยชน์ หรือ บุคคล หรือองค์การระหว่างประเทศ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีต่อองค์กรสหประชาชาติหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะไม่เสีย