คลังรื้อภาษีที่ดิน วางเกณฑ์เข้มอุดช่องโหว่ปลูกมะนาวเลี่ยงภาษี

17 เม.ย. 2567 | 09:11 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2567 | 09:21 น.

คลังเตรียมรื้อโครงสร้างภาษีที่ดิน วางเกณฑ์เข้มขึ้น อุดช่องโหว่เลี่ยงภาษี ชี้ยังพบที่ดินรกร้างกลางเมืองปลูกมะมาว เพื่อจ่ายภาษีต่ำ ระบุภาษีที่ดินรีดรายได้สูงกว่าภาษีโรงเรือนเล็กน้อย

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 โดยจะเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีการปรับลดอัตราภาษีมาโดยตลอด

ล่าสุดนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างทบทวนกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยในการทบทวนครั้งนี้ จะค่อยๆวางกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อปิดช่องโหว่ทางภาษี ทั้งนี้ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ประกาศใช้มาแล้ว 5 ปี ซึ่งในทุกๆ 5 ปี จะต้องมีการทบทวนการใช้กฎหมายว่ามีปัญหาในการใช้กฎหมายอย่างไรบ้าง

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

 

สำหรับในช่วงเริ่มต้นของการใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เราก็ไม่อยากวางกฎเกณฑ์กฎหมายที่ตึงจนเกินไป โดยเฉพาะในเรื่องที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งเป็นประเภทของที่ดินที่มีอัตราภาษีสูงกว่าที่ดินประเภทอื่นๆ ได้แก่ ที่อยู่อาศัย ที่ดินเพื่อการเกษตร หรือที่ดินเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม

“มีเจ้าของที่ดินรกร้างว่างเปล่าบางราย โดยเฉพาะที่ดินใจกลางเมืองที่ไม่อยากเสียภาษีในอัตราสูง ก็ใช้วิธีการปลูกต้นไม้ เช่น มะนาว เพื่อให้ที่ดินของตนจัดอยู่ในประเภทที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งมีอัตราภาษีที่ต่ำที่สุด แต่เรามองว่าแม้จะเป็นการปลูกมะนาวบนที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่อยู่ในกลางเมือง แต่เจ้าของที่ดินเหล่านั้นก็ยังต้องเสียภาษีที่ดินในฐานะประเภทที่ดินเพื่อการเกษตร ขณะที่ในอดีตนั้น ที่ดินดังกล่าวจะไม่มีภาระภาษีเลย”นายลวรณกล่าว 

คลังรื้อภาษีที่ดิน วางเกณฑ์เข้มอุดช่องโหว่ปลูกมะนาวเลี่ยงภาษี

ขณะที่การตีความว่าที่ดินแปลงใดเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นผู้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยนิยามของที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามกฎหมาย คือ ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน ซึ่งในหลักการแล้ว หากเราเสียภาษีในที่ดินแปลงนั้น 100 บาท เราควรจะต้องหาประโยชน์จากที่ดินแปลงนั้นให้ได้มากกว่า 100 บาท เพราะฉะนั้นหากพิจารณาตามหลักการนี้ที่ดินบนถนนสีลม ก็ไม่ควรปลูกมะนาว

“การทบทวนปรับเกณฑ์การจัดเก็บภาษีที่ดินนั้น ก็ยังจำเป็นต้องค่อยๆ ปรับ ให้ตึงขึ้นในอนาคต ซึ่งในประเด็นอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ในช่วงแรกของการใช้ภาษีตัวนี้จนถึงปัจจุบัน ยังใช้อัตราภาษีที่ต่ำ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ควรที่จะต้องปรับอัตราให้สูงขึ้น แต่จำเป็นต้องพิจารณาตามจังหวะเวลาและสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ดินที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเพดานขั้นต่ำ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถขยับอัตราภาษีให้สูงขึ้นได้ แต่จะปรับให้ต่ำกว่าเพดานขั้นต่ำไม่ได้

ทั้งนี้ การนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่นั้น หลังจากพ้นช่วงระยะเวลาการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเริ่มเก็บเต็มอัตราตามกฎหมายแล้ว พบว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สามารถเก็บรายได้ได้สูงกว่า ภาษีเก่าเล็กน้อย

โดยระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ฐานภาษี คือ ราคาประเมินที่ดินคูณด้วยอัตราภาษีที่ดินแต่ละประเภท ขณะที่ระบบภาษีแบบเก่า (ภาษีโรงเรือน) ใช้อัตราค่าเช่ารายปี คูณด้วยอัตรา 12.5% ดังนั้น อาจมีที่ดินบางแปลง เช่น ห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่อาจมีภาษีสูงขึ้น ขณะที่บางห้างอาจมีอัตราภาษีที่ต่ำลงกว่าเดิม แต่ถือว่ามีความเป็นธรรม เพราะใช้อัตราภาษีเดียวกับทุกคน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บภาษี

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,984 วันที่ 18 - 20 เมษายน พ.ศ. 2567