นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ประชาชนจะต้องเข้ามาลงทะเบียน เพื่อยืนยันตัวตนในการรับสิทธิ โดยโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะเริ่มเปิดลงทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 และประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567
ส่วนช่องทางในการใช้จ่ายนั้น จะใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ขณะที่วงเงินจากดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่ประชาชน 50 ล้านคนได้รับ จะต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น
สำหรับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าโชห่วย และร้านสะดวกซื้อ อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ก็สามารถเข้าร่วมได้
ทั้งนี้ หลักการได้รับเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ คือ รอบแรกมีเงินอยู่ที่ประชาชน โดยประชาชนที่ได้รับสิทธิจะต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ที่อยู่ในเขตอำเภอ เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือเป็นรอบที่ 1
ทั้งนี้ เมื่อร้านค้าขนาดเล็กได้รับวงเงินมาแล้ว ต้องเอาไปใช้ต่อเป็นรอบที่ 2 ในร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการซื้อขายร้านค้ากับร้านค้า โดยหากร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวอยู่ในระบบภาษี ร้านค้านั้นๆ จะสามารถเอาออกจากระบบได้ โดยเกณฑ์โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต กำหนดให้ร้านค้าที่สามารถนำเงินออกจากระบบได้ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
“การกำหนดร้านขนาดเล็กในรอบแรก มองว่า จะต้องเป็นร้านโชห่วย ขึ้นมาได้มากที่สุด คือร้านสะดวกซื้อ อาทิ เซเว่น ร้านในปั๊ม แต่ยังไม่ถึงแม็คโคร ค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ที่ทำให้มีรอบที่ 1 และรอบที่ 2 เพราะเราอยากให้เกิดการหมุนเวียน เพราะหากเงินในระบบออกได้เร็ว แรงส่งต่อเศรษฐกิจก็จะมีน้อยลง”
นายลวรณ กล่าวว่า โครงการเติมเงินดิจิทัล มีระยะเวลาการใช้จ่าย 6 เดือน มั่นใจว่า วงเงินงบประมาณ 5 แสนล้านบาท จะลงสู่ร้านค้าขนาดเล็กทั้งหมด โดยรัฐจะมีระบบบล็อกร้านค้าที่ 2 ไม่ให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้ เพื่อกำหนดให้ประชาชนซื้อในร้านค้าขนาดเล็กก่อน
ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวมีระบบป้องกันเรื่องเงินทอน และทุจริตการใช้จ่าย ซึ่งโครงการในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้น แต่ก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพื่อป้องกันการสวมสิทธิในการใช้จ่าย ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายจะต้องมีการยืนยันตัวตนในรูปแบบ face to face และยังมีตำรวจไวเบอร์ที่จะเข้ามาดูเรื่องเงินทอน และการซื้อของผิดประเภท โดยมีโทษสูงสุดถึงจำคุก