มติ ครม.อนุมัติเงินช่วยเหลือ รัฐบาลสปป.ลาว สร้างถนน R 12 เชื่อมนครพนม

18 เม.ย. 2567 | 09:13 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2567 | 09:23 น.

มติครม. อนุมัติให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาล สปป. ลาว ปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 - R12 วงเงิน 1,833 ล้าน เชื่อมนครพนม

วันนี้ (18 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป. ลาว (โครงการ R12) จำนวน 1,833,747,000 บาท 

นางสาวเกณิกากล่าวว่า การดำเนินโครงการ R12 เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ 17 กิโลเมตร (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวพะลา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป. ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ กวางบิงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร ประกอบด้วย

1.ปรับปรุงสายทางตามมาตรฐานทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway) 2.ปรับปรุงจุดผ่านแดน อาคารสำนักงานต่าง ๆ สถานีขนถ่ายสินค้าและลานกองเก็บ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบริเวณด่าน 3.ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณทางร่วมทางแยกในชุมชนระบบระบายน้ำและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย4.พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้ 

เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

  • อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.75 ต่อปี 
  • อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี)
  • ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ.ร้อยละ 0.15 ของวงเงินกู้
  • ระยะเวลาการเบิกจ่าย 6 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา
  • ผู้ประกอบการงานก่อสร้างและที่ปรึกษานิติบุคคลสัญชาติไทย
  • การใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
  • ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษานิติบุคคลสัญชาติไทย
  • กฎหมายที่ใช้บังคับกฎหมายไทย

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

วงเงินให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน1 (Concessional Loan) วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,833,747,000 บาท แบ่งออกเป็น

  • วงเงินให้กู้ (จากแหล่งเงินงบประมาณร้อยละ 50 และเงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศร้อยละ 50) 1,742,684,000 บาท 
  • วงเงินให้เปล่า (จากแหล่งเงินงบประมาณ) 91,063,000 บาท 

แหล่งที่มาของเงินทุนโครงการ R12 ประกอบด้วย

  • เงินงบประมาณ แบ่งเป็น วงเงินให้เปล่า จำนวน 91,063,000 บาท และ วงเงินให้กู้ (ร้อยละ 50 ของวงเงินให้กู้) จำนวน 871,342,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 962,405,000 บาท โดยขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจาก สงป. เป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2570 รวมระยะเวลา 3 ปี 
  • เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (เงินนอกงบประมาณ) คิดเป็นร้อยละ 50  ในส่วนของเงินกู้ รวมวงเงิน 871,342,000 บาท ซึ่ง สพพ. จะกู้เงินระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก ใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี สำหรับปีที่ 6 - 15 และออกพันธบัตรระยะเวลา 15 ปี สำหรับปีที่ 16 - 30 โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.00 ต่อปี โดย สพพ. เป็นผู้รับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา

ทั้งนี้ กรณีที่ สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ สพพ. จะพิจารณาใช้เงินสะสมของ สพพ. ไปก่อน หาก สพพ. ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจะขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเสริมสภาพคล่องและเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป

รายละเอียดค่าใช้จ่ายภายใต้วงเงินให้ความช่วยเหลือ

  • ค่าก่อสร้าง ประกอบด้วย งานก่อสร้างภายใต้วงเงินกู้ 1,584,937,000 บาท 
  • งานก่อสร้างภายใต้วงเงินให้เปล่า ได้แก่ งานปรับปรุงเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว 44,212,000 บาท งานสร้างจุดพักรถ 6,454,000 บาท งานปรับปรุงด่านนาเพ้า 40,397,000 บาท 
  • ค่าที่ปรึกษา 51,000,000 บาท 
  • ค่าบริหารจัดการ 20,000,000 บาท
  • ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 84,000,000 บาท 
  • ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2,747,000 บาท 

นางสาวเกณิกากล่าวว่า ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการ R12 แล้ว สพพ. จะดำเนินการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรลุโครงการดังกล่าวตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง 5 ปี ต่อไป

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นางสาวเกณิกากล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เส้นทาง R12 จะสนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยสามารถประหยัดเวลาการขนส่งและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้ (Transit & Customs time) จากจุดเริ่มต้น (Origin) และจุดหมาย (Destination) เดียวกันจาก 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลดขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรจาก 5 จุด เหลือ 2 จุด และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก 

นางสาวเกณิกากล่าวว่า ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งภาคการผลิตและบริการที่สำคัญ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกันส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"เส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางหมายเลข 8 (R8) และเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economic Corridor : EWEC) และคาดว่า มีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนการใช้เส้นทางจากเส้นทาง R9 มาใช้เส้นทางโครงการ R12 ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลให้โครงการ R12 สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าชายชายแดนระหว่างไทย - สปป. ลาว ผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น"นางสาวเกณิกากล่าว