ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มาแรง ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ 67% ปี 67 คาดมูลค่า 7 แสนล้าน

19 เม.ย. 2567 | 02:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2567 | 02:26 น.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยธุรกิจที่น่าจับตามองไตรมาสแรกปี 67 อีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง คาดปี 2567 มูลค่าตลาดจะแตะ 7 แสนล้านบาท แรงหนุนมาจากคนไทยแห่ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม กว่า 67% สอดคล้องตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลของธุรกิจ ปัจจุบันดำเนินกิจการจำนวน 7,393 ราย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยข้อมูลวิเคราะห์ธุรกิจที่น่าจับตามองไตรมาส 1/2567 ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมากที่สุด คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้ง การเปิดใจรับเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ข้อมูลจาก www.datareporter.com (Digital 2024 : Thailand) พบว่า ปัจจุบันคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ต 63.21 ล้านคน (88%) ใช้งานเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 58 นาทีต่อวัน โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้งานมากที่สุด คือ

  • Facebook
  • LINE
  • TikTok

เพื่อติดต่อครอบครัวและเพื่อน ติดตามข่าวสาร และซื้อสินค้าออนไลน์ โดยคนไทยใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซซื้อสินค้าและบริการสูงถึง 66.90%

ความนิยมที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตตลอด 6 ปีที่ผ่านมาทั้งจำนวนการจัดตั้งและมูลค่าทุนจดทะเบียน

  • ปี 2561 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 310 ราย ทุนจดทะเบียน 545.00 ล้านบาท
  • ปี 2562 จัดตั้ง 576 ราย (เพิ่มขึ้น 266 ราย หรือ 85.81%) ทุน 772.05 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 227.05 ล้านบาท หรือ 41.66%)
  • ปี 2563 จัดตั้ง 798 ราย (เพิ่มขึ้น 222 ราย หรือ 38.55%) ทุน 1,177.25 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 405.20 ล้านบาท หรือ 52.49%)
  • ปี 2564 จัดตั้ง 1,404 ราย (เพิ่มขึ้น 606 ราย หรือ 75.94%) ทุน 1,800.41 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 623.16 ล้านบาท หรือ 52.94%)
  • ปี 2565 จัดตั้ง 1,459 ราย (เพิ่มขึ้น 55 ราย หรือ 3.92%) ทุน 1,922.56 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 122.15 ล้านบาท หรือ 6.79%)
  • ปี 2566 จัดตั้ง 1,713 ราย (เพิ่มขึ้น 254 ราย หรือ 17.41%) ทุน 2,270.84 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 348.28 ล้านบาท หรือ 18.12%)   

างอรมน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 7,393 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 43,704.22 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่

  1. กรุงเทพมหานคร 2,626 ราย (35.52%)
  2. นนทบุรี 534 ราย (7.22%)
  3. สมุทรปราการ 386 ราย (5.22%)
  4. ปทุมธานี 386 ราย (5.22%)
  5. เชียงใหม่ 319 ราย (4.31 %)

โดยเป็นธุรกิจขนาดเล็ก

(S) 7,279 ราย (98.46%) ทุน 13,497.14 ล้านบาท (30.88%)

ขนาดกลาง (M) 86 ราย (1.16%) ทุน 1,875.05 ล้านบาท (4.29%)

 ขนาดใหญ่ (L) 28 ราย (0.38%) ทุน 28,332.03 ล้านบาท (64.83%)

 

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มาแรง ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์  67% ปี 67 คาดมูลค่า 7 แสนล้าน

ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ปี 2563 จำนวน 22,835.80 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 29,247.12 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6,411.32 ล้านบาท หรือ 28.08%) ปี 2565 จำนวน 23,422.21 ล้านบาท (ลดลง 5,824.91 ล้านบาทหรือ 19.92%) ผลประกอบการกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ปี 2563 จำนวน 94,492.48 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 113,880.44 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 19,387.96 ล้านบาท หรือ 20.52%) ปี 2565 จำนวน 152,432.90 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 38,552.46 ล้านบาท หรือ 33.86%)

ทั้งนี้ ปี 2566 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าตลาด 6.34 แสนล้านบาท และคาดว่า ปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 6.94 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 6% และ ปี 2568 จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 7.50 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบจำนวนธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลที่มีจำนวนทั้งสิ้น 7,393 ราย กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั้งตลาดยังถือว่ามีจำนวนที่น้อยมาก โดยคาดว่าผู้ประกอบการทั้งตลาดจะมีมากกว่า 1 แสนราย โดยการดำเนินธุรกิจระยะแรกผู้ประกอบการอาจประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนพาณิชย์ แต่เมื่อมีศักยภาพมากขึ้นก็สามารถเปลี่ยนเป็นการประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มาแรง ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์  67% ปี 67 คาดมูลค่า 7 แสนล้าน