เม.ย.นี้ เคาะผลศึกษาสร้าง “แทรม 3 สาย” 7.2 หมื่นล้าน

19 เม.ย. 2567 | 08:03 น.

“คมนาคม” กางแผนสร้างแทรมรถไฟฟ้า 3 สาย วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท ฟากรฟม.เร่งชงผลศึกษา เม.ย.นี้ ปักหมุดเปิดให้บริการปี 74

KEY

POINTS

  • “คมนาคม” กางแผนสร้างแทรมรถไฟฟ้า 3 สาย วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท
  • ฟากรฟม.เร่งชงผลศึกษา เม.ย.นี้ ปักหมุดเปิดให้บริการปี 74 

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเร่งดันแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าภูมิภาค หรือ “รถไฟแทรม” ที่จะช่วยแก้ปัญหาจรจาจรติดขัดภายในพื้นที่ แต่ปัจจุบันพบว่ากระทรวงได้สั่งให้รฟม.ทบทวนผลศึกษารูปแบบของรถอีกครั้งเพื่อประหยัดต้นทุนโครงการ ส่งผลให้โครงการล่าช้ากว่า 3 ปี  

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทางรวม 15.7 กิโลเมตร (กม.)  วงเงิน 29,621 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบศึกษารายละเอียด (Detail Design) และจัดทำรายงาน PPP โดยจะเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกการดำเนินโครงการที่เหมาะสมภายในเดือนเมษายนนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการ PPP ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568-กุมภาพันธ์ 2569 คาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2569 

 

ทั้งนี้ตามแผนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี จะเปิดคัดเลือกเอกชนภายในเดือนพฤศจิกายน 2569-ตุลาคม 2570 และเริ่มก่อสร้างภายในเดือนพฤศจิกายน 2570-มกราคม 2574 ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2574

 

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์- แยกแม่เหียะสมานสามัคคี มี 16 สถานี แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 6.5 กม. และโครงสร้างระดับดิน 9.2 กม โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์ โดยออกแบบโครงสร้างเป็นทางวิ่งระดับดิน ผ่านโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนถึงแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ซึ่งจะเปลี่ยนจากระดับใต้ดินเป็นทางวิ่งระดับดิน แล้ววิ่งออกไปที่ถนนเชียงใหม่-หางดง (ทางหลวงหมายเลข 108) ไปสิ้นสุดบริเวณแยกแม่เหียะสมานสามัคคี
 

ด้านความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทางรวม 11.15 กม. วงเงิน 7,242 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมของโครงการ รวมทั้งจัดทำรายงาน PPP คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาภายในเดือนเมษายนนี้ หลังจากนั้นจะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบไฟฟ้าและเดินรถภายในเดือนมิถุนายน 2568-เมษายน 2569 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ตามแผนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาฯ จะเสนอต่อ ครม. ภายในเดือนเมษายน 2569 และเปิดคัดเลือกเอกชนภายในเดือนพฤศจิกายน 2569-ตุลาคม 2570 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนพฤศจิกายน 2570-มกราคม 2574 คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2574 

 

ส่วนแนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาฯ จำนวน 21 สถานี มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณตลาดเซฟวัน ฝั่งมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองนครราชสีมา ไปตามแนวถนนมิตรภาพ ผ่านแยกปักธงชัย แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 224 ผ่านโรงเรียนเมืองนครราชสีมา และผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 

 

ที่ผ่านมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ฯ และโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมาฯ โดยเปรียบเทียบระหว่างระบบรถรางไฟฟ้าล้อเหล็กและระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง โดยจากการศึกษา พบว่า ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยางมีความเหมาะสม
 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทางรวม 41.7 กม. วงเงิน 35,350 ล้านบาท ขณะนี้ รฟม. อยู่ระหว่างศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม โดยเปรียบเทียบระหว่างระบบรถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก,ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง และระบบรถรางล้อยางแบบไม่มี Guide Rail (ART) หลังจากนั้นจะปรับปรุงรายงาน PPP เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการตามมาตรา 36 และคณะกรรมการ รฟม. พิจารณาภายในเดือนตุลาคม 2568-มิถุนายน 2569 

เม.ย.นี้ เคาะผลศึกษาสร้าง “แทรม 3 สาย”  7.2 หมื่นล้าน

ขณะเดียวกันโครงการนี้จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม, สคร. ,คณะกรรมการ PPP และครม.เห็นชอบภายในเดือนกรกฎาคม 2569-กุมภาพันธ์ 2570 และเปิดคัดเลือกเอกชนภายในเดือนมีนาคม 2570-สิงหาคม 2571 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกันยายน 2571-พฤศจิกายน 2574 คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2574

 

“โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ยังมีประเด็นที่โครงการฯมีเส้นทางส่วนใหญ่อยู่บนถนน ทล. 402 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักของจังหวัดภูเก็ต ดังนั้นหากดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ไปพร้อมกับโครงการถนนอื่นๆ จะทำให้เกิดปัญหาการจราจรอย่างมาก เบื้องต้นให้รฟม.บูรณาการแผนดำเนินงานโครงการร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ให้เร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างถนน ทล. 4027 ให้แล้วเสร็จก่อนเพื่อบรรเทาปัญหาจราจรและใช้เป็นทางเลี่ยง ก่อนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าภูเก็ตต่อไป”

 

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตฯ จำนวน 21 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มจากสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตโดยแนวเส้นทางช่วงนี้เป็นโครงสร้างแบบยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 4031 จากนั้นลดระดับลงสู่ระดับดินที่ทางหลวงหมายเลข 4026 มุ่งหน้าเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 เพื่อเข้าสู่เมืองภูเก็ต จากนั้นแนวเส้นทางจะกลับขึ้นสู่ระดับดิน เข้าสู่เขตเทศบาลเมืองภูเก็ต และไปสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง