นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงภารกิจในช่วงที่เหลืออีก 1 ปีสุดท้ายในฐานะบิ๊กบอสหอการค้าฯ ในสมัยที่ 2 ก่อนหมดวาระในปี 2568 ว่า การผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ให้โตไม่ต่ำกว่า 3% เป็นเรื่องที่ท้าทาย และมีหลายโจทย์ที่ยังต้องช่วยกันแก้ไข ทั้งนี้หอการค้าฯ มีแผนที่จะขับเคลื่อน Flag ship Project ร่วมกับรัฐบาล เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้ถึง 3% และเป็นภารกิจอีก 1 ปีที่เหลือของคณะกรรมการชุดที่ 25 ที่จะขับเคลื่อนให้สำเร็จ 5 เรื่อง ได้แก่
1.ยกระดับ 10 จังหวัดสู่เมืองหลัก ได้แก่ แพร่ ลําปาง ราชบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง นครพนม ศรีสะเกษ นครสวรรค์ จันทบุรี และกาญจนบุรี เป็นแนวคิดริเริ่มที่หอการค้าฯ ร่วมกับภาคธุรกิจที่มีศักยภาพผลักดันจังหวัดใหม่ ๆ โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตจากภายในประเทศ ผ่านการกระจายความเจริญให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่าน 3 แนวทางการทำงาน คือ 1. Unlock Potential(ปลดล็อกศักยภาพ) 2. การสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค (น้ำประปา ไฟฟ้า สปีดอินเตอร์เน็ต) 3. การช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้ทั่วถึง เพิ่มรายได้ให้ SMEs
“นายกรัฐมนตรีได้มีการรับฟังข้อเสนอหอการค้าฯ และเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าวแล้ว และได้จัดตั้งคณะทำงานการขับเคลื่อนการยกระดับเมือง และมอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ มี หอการค้าไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เริ่มลงพื้นที่คิกออฟ จังหวัดนครพนมเป็นโมเดลต้นแบบในการริเริ่มโครงการฯ เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา และมีแผนเปิดตัวให้ครบทั้ง 9 จังหวัดที่เหลือภายในปีนี้”
2.ยกระดับผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจำเป็นต้องอาศัยศักยภาพของ SMEs ที่มีมากสุดของประเทศ ที่ผ่านมา SMEs บางส่วนพึ่งเริ่มฟื้นตัว แต่ปัญหาหลักของ SMEs ไทย ในวันนี้ คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่ยังยากลำบาก ในส่วนนี้หอการค้าไทย จะเข้ามาช่วยหารือกับภาครัฐและสถาบันการเงิน ผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น พร้อมส่งเสริมดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
ขณะเดียวกัน หอการค้าฯ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย( TMA )ได้ร่วมจัดทำโครงการ FAST SMEs “Enhancing SMEs Capability for Competitiveness” สร้างต้นแบบ SMEs ภาคเกษตรสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน นำร่องคัดเลือก SMEs กลุ่มเกษตรและอาหาร จำนวน 10 ราย เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านกระบวนการอบรม Coach Mentor กิจกรรมการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ การศึกษาดูงานต้นแบบการจัดการธุรกิจด้านนวัตกรรมอาหารที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
นอกจากนี้ หอการค้าฯ ยังมีการหารือ Food Valley Netherland เพื่อยกระดับ Productivity ภาคเกษตร เพิ่มรายได้ รวมถึงมีแผนจะไปหารือ กับ Italy Chamber of Commerce และลงนาม MOU กับหน่วยงานของอิตาลี ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ มีเป้าหมายยกระดับ SMEs ไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้าง แบรนด์ ต่อยอดการยกระดับสินค้าแฟชั่น โดยเฉพาะผ้าไหมไทยที่ทางอิตาลีจะมาช่วยพัฒนาคุณภาพให้เหมาะสมกับการออกแบบและใช้งานจริง
3.การให้ข้อเสนอแนะต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้รวดเร็วและมากที่สุดในระยะเวลา 5 เดือนของปีงบประมาณ จะช่วยให้เม็ดเงินกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลได้แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัล วอลเล็ต หอการค้าฯ มีข้อสังเกตใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้ 1) จากการดำเนินการของดิจิทัล วอลเล็ตที่จะเลื่อนไปเป็นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้นั้นหอการค้าฯ มองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าไป ซึ่งหากเป็นไปได้ อยากจะให้มีเร่งจัดสรรงบประมาณปี 2567 โดยจัดสรรให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนก่อน แล้วค่อยให้กลุ่มที่เดือดร้อนน้อยที่เหลือตามมาในระยะต่อไป จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าการรอต่อไปในไตรมาส 4
2) สำหรับประเด็นการจัดทำ Appication ใหม่ (Super App) ส่วนนี้หอการค้าฯ เคยเสนอเรื่องการใช้ App เป๋าตัง เพราะประชาชนคุ้นเคย ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถเข้าถึงประชาชนได้ และทำได้เร็ว หากนำ super app มาใช้จะทำให้เกิดความยุ่งยากกับประชาชน และอาจจะเกิดความล่าช้า เพราะต้องไปทั้งเขียนและทดสอบระบบใหม่
3) ประเด็นเงินหมุนเวียนในจังหวัด ที่ต้องใช้ร้านค้าที่ลงทะเบียน ส่วนนี้อยากให้รัฐบาลเปิดโอกาส และมีมาตรการจูงใจให้ร้านค้าที่ยังไม่เข้าระบบภาษี ได้เข้ามาเป็นทางเลือกให้ประชาชน จากที่ผ่านมากลุ่มนี้อาจจะกังวลเรื่องภาษี ซึ่งจะทำให้โครงการนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม โครงการดิจิทัล วอลเล็ตจะประสบผลสำเร็จ และสัมฤทธิผลมากน้อยเพียงใดอยู่ที่การดำเนินการได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี การใช้เงินในพื้นที่จะเกิดการหมุนเวียนเร็วและหลายรอบ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนผู้ประกอบการและประชาชน เสริมด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ควบคู่กันไปเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเดินฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
4.การผลักดันบทบาทไทยสู่เวทีระดับนานาชาติ หอการค้าฯ เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่สมัครเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD )อย่างเป็นทางการ ซึ่งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD คือ การยกระดับมาตรฐานประเทศไทยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การค้า และความโปร่งใส ตลอดจนยกระดับในด้านกฎหมาย
สำหรับการยกระดับการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าฯ วางเป้าหมายส่งเสริมการค้ากับประเทศยุทธศาสตร์หลัก 6 ประเทศ ที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ 1) จีน ที่หอการค้าฯได้ทำงานร่วมกับสถานทูตจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ทั้งในอุตสาหกรรม EV Car Technology ตลอดจนสถาบันการเงิน
2) สหรัฐอเมริกา ภาคเอกชนไทยทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา เช่น The U.S. Chamber of Commerce, Trade Winds, คณะผู้แทน Port of Long Beach, สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐ และมีแผนจัดงาน THAILAND U.S. TRADE AND INVESTMENT CONFERENCE 2024 กับหอการค้าอเมริกัน และ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย
3) เวียดนาม หอการค้าไทยจับมือกับภาคอุตสาหกรรมเวียดนาม ดันเศรษฐกิจสองประเทศไทยตามเป้าหมายการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นคู่ค้า ทั้งนี้คาดว่านายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางเยือนเวียดนามในครึ่งหลังของปีนี้ หรืออย่างเร็วสุดในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเวียดนามจะเป็นประเทศแรกที่ไทยจะลงนามเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยตั้งเป้าหมายสร้างมูลค่าการค้า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025
4) อินเดีย เป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจก่อสร้าง บริการระบบสาธารณูปโภค บริการโรงแรมและสปา เทคโนโลยีการผลิตอาหารแปรรูป บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมเกษตร
5) ซาอุดีอาระเบีย หอการค้าฯ เป็นองค์กรภาคเอกชนองค์กรแรกที่เปิดสัมพันธ์ ในรอบ 32 ปี โดยทำงานใกล้ชิดกับ Saudi Chambers of Commerce และภาคเอกชนซาอุดิอาระเบีย รวมถึงมีการ MOU กับภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย พร้อมทั้งจัดตั้งสภาธุรกิจขึ้นทั้ง 2 ประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน โดยมีเป้าหมายการผลักดันการค้าไทย-ซาอุฯ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2567
6) ญี่ปุ่น ถือเป็นมิตรประเทศสำคัญของไทยที่หอการค้าฯ จะร่วมกับรัฐบาลสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ICE มาสู่ Hybrid และ EV ทำให้อุตสาหกรรมยายนต์ของไทยยังคงเติบโตและกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค
“นอกจากนี้ หอการค้าไทยและสถานทูตไทยในประเทศเวียดนาม ยังได้จัดตั้งโมเดลการทำงานภายใต้รูปแบบ Team Thailand Plus ดึงการมีส่วนร่วมของสถานทูต หน่วยงานภาครัฐของไทย ภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในเวียดนาม ประชุมหารือแบ่งปันข้อมูล แนวทาง กฎระเบียบ รวมถึงการประสานหน่วงานรัฐของเวียดนาม เพื่อช่วยกันส่งเสริมภาคธุรกิจให้แข่งขันในตลาดเวียดนามได้ ทั้งนี้ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เห็นถึงความสำเร็จของโมเดลนี้ และอยากให้หอการค้าฯ ช่วยขยายผลรูปแบบการทำงานของ Team Thailand Plus กับประเทศอื่น ๆ ต่อไป
5.การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำงานร่วมกับ Technology Provider และ Technology Companies ที่ผ่านมาหอการค้าฯ พยายามผลักดันหน่วยงานราชการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) ในการจัดทำ E-Government ในแต่ละหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดต้นทุนประชาชนและผู้ประกอบการในการติดต่อส่วนราชการ และงบประมาณภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
“ตัวอย่างความสำเร็จได้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลนิติบุคคลของ 8 หน่วยงานภาครัฐ ช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนในการให้บริการภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ครอบคลุมกว่า 500 กระบวนงาน ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบความสำเร็จในการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในระบบการให้บริการภาครัฐ”
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้ประกาศก้าวสู่ความเป็นเลิศด้าน AI Integrated University ตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท พัฒนาหลักสูตร AI ไม่เพียงแค่การเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ AI มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำ AI มาบูรณาการในมิติการเรียนการสอนและการให้บริการ หรือ AI – UTCC เพื่อยกระดับคุณภาพและความสามารถของบัณฑิตไทยให้พร้อมสู่ตลาดแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยให้ก้าวไปยืนอยู่ในตลาดระดับโลก อีกทั้ง จับมือกับ Harbour Space university (มีสำนักงานใหญ่ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน)สร้าง Harbour Space@UTCC ตั้งเป้าสร้าง New Young Talent 1 หมื่นคนภายใน 10 ปี
“อีกหนึ่งบทบาทที่สำเร็จคือการสร้าง Successor คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนองค์กรและเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการจัดตั้งกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ของหอการค้าไทย หรือ YEC เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมี YEC ทั่วประเทศกว่า 7 พันคน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาแต่ละจังหวัด เปลี่ยนภาพลักษณ์หอการค้าฯ จากคนรุ่นเก่า สู่ คนรุ่นใหม่ที่มี Global mindset เป็นนักรบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป”
นายสนั่น กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ แต่ยังไม่สามารถกลับมาเติบโตได้เต็มศักยภาพ สะท้อนได้ชัดจาก 10 ปีที่ผ่านมา GDP ประเทศไทย เติบโตเฉลี่ยเพียง 1.9% ดังนั้น หอการค้าไทยจึงได้เสนอ 4 แผนรับมือความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันรับมือ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวเต็มศักยภาพ ได้แก่
1) Geopolitical Challenge ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน อิสราเอล – ฮามาส และ อิหร่าน - อิสราเอล เหล่านี้ส่งผลกดดันให้กับต้นทุนน้ำมัน และค่าขนส่งของโลก รวมถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่หากไทยสามารถวาง Position เป็นกลางได้ จะเป็นโอกาสในการเร่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(FDI) ใหม่ ๆ เข้ามา เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เราเก่ง แต่เป็นสินค้าที่โลกเริ่มไม่ต้องการ ไปสู่ New Industry เช่น EV Car เกษตรแม่ยำที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่ม Productivity ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการทำงานอย่างจริงจังของรัฐบาลในการวางนโยบาย Ease of Doing Business
ขณะเดียวกันปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาจเป็นโอกาสทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวโดดเด่น โดยหอการค้าฯ ชูแนวทาง Trade & Travel และมั่นใจว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะเข้ามาถึง 35 ล้านคน
2) Technology Challenge ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ปัจจุบัน Advanced ICT Skills ของแรงงานไทยมีเพียง 1% เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยี อย่างน้อย 10% ของประเทศ หรือประมาณ 5 ล้านคน
3) Population Challenge ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจากอัตราการเกิดของเด็กไทยน้อยกว่าอัตราการตาย ส่งผลให้ประเทศจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ยิ่งทำให้วัยแรงงานของไทยลดน้อยลง แม้ว่ารัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเร่งส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้นแต่แนวทางดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา
ดังนั้นในระยะเร่งด่วนรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานและมาอยู่ในประเทศ ผ่านการจัดทำ Talent Immigration Policy ศึกษาแนวทางการให้สัญชาติกับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ (Talent) หรือ Golden Visa ที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนประชากรในภาคแรงงานที่ขาดแคลน และได้คนเก่งเข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
4) Climate Change Challenge ที่ไม่ใช่แค่เป็นเทรนด์ของโลก แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนรับรู้ได้ ทั้งปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง - ภัยแล้ง - PM 2.5 ล้วนแล้วแต่กระทบภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยว การให้ความสำคัญกับแนวทาง SGDs และ ESG จึงเป็นทางรอดของการปรับตัว และหากไทยปรับตัวช้าอาจต้องเจอกับ Non-Tariff Barriers เช่น CBAM, IUU Fishing
ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เกิดการปรับตัวให้ทันตามเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero จึงจำเป็นต้องขยาย Scales จากเล็กไปใหญ่ โดยภาคธุรกิจเอกชนที่มีศักยภาพพร้อมสร้างมาตรฐานให้ SMEs ภายใต้ Value Chains ซึ่งหอการค้าฯ เชื่อว่า 4 ความท้าทาย ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ภาครัฐ เอกชน ประชาชน ต้องมีส่วนช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
“ทุกฝ่ายคงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อดันเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตได้ตามเป้าหมาย 3% ที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกัน แม้หอการค้าฯ จะเป็นองค์กรเอกชนที่มีภาคธุรกิจหลากหลายสาขาอาชีพเข้ามาทำงานร่วมกัน แต่ 91 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าองค์กรแห่งนี้มีวัฒนธรรมและสร้างรูปแบบการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไร้รอยต่อ โดยที่ประชุมกรรมการบริหารฯ มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 เพื่อเตรียมรับไม้ต่อเป็นประธานหอการค้าไทยคนถัดไปในปี 2568” นายสนั่น กล่าวทิ้งท้าย