จับตาคู่ค้าสต๊อกร่อยหรอ ไทยลุยส่งออกอาหาร ดันเป้า 1.6 ล้านล้าน

12 เม.ย. 2567 | 09:07 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2567 | 09:38 น.

2 เดือนแรกปี 2567 การส่งออกอาหาร สินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพของผู้คนทั่วโลกจากประเทศไทยมีมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.9%

ต่อทิศทางแนวโน้มเดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะเป็นอย่างไรนั้น นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ระบุ มีหลากหลายปัจจัยที่ยังเป็นตัวแปร

นายวิศิษฐ์ ฉายภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ว่า จากมูลค่าที่ส่งออกแล้วประมาณ 2.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าเกษตรอาหาร 1.15 แสนล้านบาท ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ส่งออกมากได้แก่ ข้าว ขยายตัว 55%, ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 6.5%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัว 20% (จากขาดแคลนวัตถุดิบ), ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัว 6.3%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร มีมูลค่าการส่งออกที่ 1.22 แสนล้านบาท ขยายตัว 1% สินค้าที่ส่งออกมากได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 11.2%, นํ้าตาลทรายและกากนํ้าตาล ลดลง 25% (ฐานปี 2566 สูง), อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 20%, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ขยายตัว 10.9% และเครื่องดื่มขยายตัว 15.4%

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

ตัวเลขครึ่งแรกเริ่มแผ่ว

ตลาดหลักของสินค้าอาหารไทยได้แก่ อาเซียน สัดส่วน 31% มูลค่าการส่งออกขยายตัว 23.2%, จีนสัดส่วน 16% มูลค่าลดลง 13% (เศรษฐกิจชะลอตัว), ญี่ปุ่น สัดส่วน 11% ขยายตัว 9.5%, สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 9% ขยายตัว 18.8%, สหภาพยุโรป+สหราชอาณาจักร สัดส่วน 8% มูลค่าขยายตัว 13.9%

“ภาพรวมการส่งออกอาหารในครึ่งแรกของปี 2567 ยังได้แรงส่งจากปีที่แล้ว แต่ตัวเลขเริ่มชะลอตัวอัตราการเติบโตไม่ได้พุ่งแรง การเติบโตยังมีในหมวดสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก เช่น ข้าว ที่ 2 เดือนแรกตัวเลขโตถึง 55% ซึ่งแรงส่งยังมีอย่างต่อเนื่อง เพราะในภาวะเศรษฐกิจชะลอข้าวถือว่าเป็นตัวตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงด้านอาหารพื้นฐานได้ดีที่สุด

รองลงมาคือ ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ที่ยอดส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือเป็นครัวเรือนได้ซื้อหาไปใช้ หรือนำไปปรุงรับประทานเองที่บ้านเพื่อความประหยัด ซึ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อไม่มาก สินค้าไก่จะตอบโจทย์ รวมถึงอาหารทะเลกระป๋อง และกลุ่มที่ยังบวกได้ดี คือ กลุ่มผลไม้สด ที่ปีที่แล้วการออกขยายตัวมาก ปีนี้ยังบวกอยู่แต่ตัวเลขไม่ได้หวือหวา”

จับตาคู่ค้าสต๊อกร่อยหรอ ไทยลุยส่งออกอาหาร ดันเป้า 1.6 ล้านล้าน

ศก.ชะลอ-ดอกเบี้ยสูง ทุบกำลังซื้อหด

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า การชะลอตัวลงของหลายกลุ่มสินค้าส่งออกในภาพรวมของประเทศในเวลานี้ มีปัจจัยหลักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาที่เริ่มส่งผลอย่างจริงจัง เห็นได้จากภาคผู้บริโภคมีกำลังซื้อที่ถดถอย

ขณะที่วิกฤตสูงสุดช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น จากค่าขนส่งทางเรือที่ตอนนั้นแพงมากและต้องแย่งตู้สินค้ากัน เมื่อส่งไปถึงประเทศปลายทางก็ขาดแคลนแรงงานในการนำตู้ลงและส่งผลให้มีตู้สินค้าถูกกองไว้ที่ท่าเรือจำนวนมาก พอมาถึงจังหวะที่เริ่มปรับตัวได้ ณ ปัจจุบัน ก็มาเจอเหตุการณ์ในทะเลแดง (กลุ่มฮูตีโจมตีเรือบรรทุกสินค้า) ก็ส่งผลกลับไปที่เรื่องเดิมคือ ค่า Freight หรือค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้นมาก แม้อาจจะยังสูงไม่เท่าช่วงโควิดแต่ผู้บริโภคไม่ยอมรับราคาสินค้าที่สูงขึ้นเมื่อสินค้านำเข้ามาถึงประเทศตัวเองแล้วต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะผู้บริโภคเองก็กำลังซื้อไม่ค่อยมีแล้ว จากเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว และยังมองไม่เห็นทิศทางอนาคตที่ตัวเองจะมีรายได้ที่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจทั้งโลกชะลอลงหมด

คู่ค้าสต๊อกหดคาดเร่งนำเข้า

“สถานการณ์คงจะส่งผลแบบนี้ไปอีกอย่างน้อยในไตรมาสที่ 2 ดังนั้นการส่งออกของประเทศไทยในภาพรวมปีนี้น่าจะบวกได้ซัก 2% จากปีที่ผ่านมา โดยส่งออก 2 เดือนแรกของไทยในปีนี้ เติบโตอยู่ที่ 6.7% อีกหลายเดือนต่อจากนี้ตัวเลขอาจจะได้ดีไม่เท่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในส่วนของการส่งออกสินค้าอาหารเรายังมองบวก คาดทั้งปีนี้น่าจะยังขยายตัวได้ 3 ถึง 5% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้จะทำได้ที่ 1.65 ล้านล้านบาท”

จากปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าอาหารได้ 1.55 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2% จากปีก่อน โดยสินค้าอาหารส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง, ข้าว, ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, นํ้าตาลทรายและกากนํ้าตาล, อาหารสัตว์เลี้ยง, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ และเครื่องดื่ม มีตลาดหลักได้แก่ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐ สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ตามลำดับ

ทั้งนี้ประเมินว่าสินค้าอาหารที่ประเทศคู่ค้านำเข้าไป และชะลอการนำเข้าในช่วงต้นปี สต๊อกที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ จะเริ่มหมดไป และจะเริ่มนำเข้าใหม่ในปริมาณที่สูงอีกครั้งในกลางปีนี้