“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครั้งใหม่ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังแข็งแกร่ง โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าตามภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ
โดยเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด และท่าทีจากประธานเฟดและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ซึ่งหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดอาจยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงไปอีกระยะ โดยจะยังไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้
ส่วนเงินบาทยังคงอ่อนค่าจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ แต่กรอบการอ่อนค่าชะลอลงบางส่วนเพราะมีแรงประคองกลับจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับตลาดในฝั่งเอเชียระมัดระวังมากขึ้น หลังจากที่ทางการสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตกลงที่จะหารือร่วมกันเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
วันศุกร์ที่ 19 เม.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนครั้งใหม่ที่ 36.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (11 เม.ย. 67)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยถึง 10,504 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 3,742 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,942 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 800 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (22-26 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.70-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนเม.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย และดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือนมี.ค. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/67 (Advanced) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOJ การประกาศอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (LPR) ของธนาคารกลางจีน และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและ อังกฤษ