จากช่วง 6 เดือนแรกของการเข้ามาบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ถูกเปิดอภิปรายเรื่องการทำงานแล้วถึงสองครั้ง ครั้งแรกโดยสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และครั้งที่ 2 โดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งถูกจับตาว่าจะนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือไม่ อย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่นั้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในมุมมองของหอการค้าฯ การอภิปรายการทำงานของรัฐบาล ถือเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยของไทย ขณะเดียวกัน อีกมุมนึงก็จะเป็นการนำเอาข้อเสนอแนะและประเด็นข้อท้วงติง ที่ได้รับจากการอภิปรายไปปรับปรุงแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาภาคเอกชนยังมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะจัดตั้งขึ้นจากการผสมผสานกันของหลายพรรค แต่วันนี้ภาพการขับเคลื่อนในประเด็นต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาล ก็ยังสามารถที่จะเดินหน้าติดตามและทำงานร่วมกับพรรคร่วมได้ จึงยังไม่มีความน่ากังวลในประเด็นนี้
“การปรับคณะรัฐมนตรีที่อาจมีขึ้นหลังจากนี้ ถือเป็นอำนาจของท่านนายกฯที่จะพิจารณาและคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม ในการดำรงตำแหน่งแต่ละกระทรวง ซึ่งเชื่อว่าหากมีการปรับคณะรัฐมนตรีในอนาคตอันใกล้ ท่านนายกฯคงจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ได้คนที่ตรงกับงาน เพื่อให้การเข้ามาขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะหลายนโยบายที่อยู่ระหว่างการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตามที่ท่านนายกฯได้เปิดเจรจาไว้ก่อนหน้านี้”
ส่วนในประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ซึ่งเพียงแค่ครึ่งแรกของปีนี้มีการปรับขึ้นแล้วสองครั้ง เริ่มจากวันที่ 1 มกราคม 2567 ปรับขึ้นทั่วประเทศเป็น 330-370 บาทต่อวัน และล่าสุดปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันใน 10 จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก(มีผลตั้งแต่ 13 เมษายน 2567) ก่อนขยายผลการปรับเปลี่ยนค่าจ้างในภาคการผลิตต่อไป
ในเรื่องนี้นายสนั่น ระบุว่า หอการค้าฯ มีความเข้าใจรัฐบาลที่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ หากพิจารณาจากพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่องจะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น แต่ยังมีปัญหาสำคัญคือการขาดแคลนแรงงานในภาคดังกล่าว โดยเฉพาะกิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป หรือที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยดึงดูดแรงงานให้กลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการมากขึ้น จะช่วยเสริมศักยภาพภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป