โอกาสทองธุรกิจบริการจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม

22 เม.ย. 2567 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2567 | 07:58 น.

สนค.เผย ประเทศไทยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ชาติแรกของอาเซียน เป็นชาติที่ 37 ของโลก คาดกฎหมายฯผ่าน จะช่วยยกระดับความเท่าเทียมทางเพศจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น โรงแรม สถานที่จัดงาน ช่างภาพ เช่าชุดแต่งงาน เป็นต้น

วันที่ 22 เมษายน 2567 รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์  ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรไทยได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมและเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมวาระแรกแล้วและมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างกฎหมาย ซึ่งหากไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมบุคคลในทุกเพศให้สามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมายและสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เท่าเทียมกับคู่รักชาย-หญิง และไทยจะกลายเป็นชาติที่ 37 ของโลกและชาติแรกของอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ซึ่งการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย นอกจากจะช่วยยกระดับด้านความเท่าเทียมทางเพศของไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะธุรกิจบริการในหลากหลายสาขา จากการศึกษาของสถาบันด้านการวิจัย The William Institute ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ภายหลังที่สหรัฐฯ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศในช่วงปี 2558-2562 สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อีกทั้งยังช่วยสร้างการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นถึง 45,000 ราย  ธุรกิจบริการที่จะมีโอกาสเติบโตจากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีหลากหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน สิทธิในการสมรสจะช่วยเพิ่มความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองการแต่งงานมากขึ้น โดยบริษัทให้บริการจัดงานแต่งงานของไทย Wonders and Weddings คาดการณ์ว่ายอดจองการจัดงานแต่งงานจะเพิ่มมากขึ้น

โดยการจองจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+  จะคิดเป็น 25% จากยอดจองทั้งหมด  การจัดงานแต่งงานถือเป็นการฉลองก้าวสำคัญ ของชีวิตของหลายคน ซึ่งกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศก็ต้องการเฉลิมฉลองช่วงเวลาสำคัญนี้เช่นกัน โดยจากข้อมูลของบริษัท IPSOS ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านตลาดข้ามชาติให้ข้อมูลว่าประชากร 9% ของไทย ระบุตนเองว่าเป็นกลุ่ม LGBTQIA+  ซึ่งความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงานเติบโตอย่างมาก เพื่อคว้าโอกาสจากการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ไทยควรผลักดันในการเป็นศูนย์กลางการจัดงานแต่งงานของทุกเพศสภาพในเอเชีย

โอกาสทองธุรกิจบริการจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม

เนื่องจากความพร้อมในด้านกฎหมาย ความเป็นเลิศในด้านการจัดงานและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของไทย และการมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแต่งงานและฮันนีมูน

ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยครอบคลุมถึงการอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ภาครัฐต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกในด้านการจดทะเบียนสมรส โดยเฉพาะในเรื่องเอกสาร วีซ่า ระยะเวลาในการดำเนินการ และสนับสนุนให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องในการจัดงานแต่งงานมีมาตรฐานและคุณภาพ เพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับคู่รักต่างชาติ เพื่อที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของคู่รัก LGBTQIA+ ทั่วโลกในการแต่งงาน ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร

การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ ในการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยที่เป็นจุดหมายการเดินทางที่เป็นมิตร โดยข้อมูลจาก World Travel & Tourism Council ระบุว่า สัดส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ คิดเป็น 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คิดเป็น 16% ของค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 195 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

โอกาสทองธุรกิจบริการจากกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ชอบเดินทางท่องเที่ยว สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย ดังนั้น การมีกฎหมายที่รองรับและสภาพสังคมที่เป็นมิตรจะแสดงถึงการยอมรับและให้เกียรติกลุ่ม LGBTQIA+ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้รู้สึกปลอดภัยและสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น

ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจทางการเงิน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่จะเติบโตมากขึ้น กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้สนับสนุนให้คู่รักหลากหลายเพศได้รับสิทธิในการดูแลชีวิตของคู่รัก สิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นตัวแทนทางกฎหมายและการสามารถรับมรดกจากคู่สมรสได้ ทำให้คู่ LGBTQIA+ สามารถทำประกันชีวิตให้กันและสามารถเป็นผู้รับผลประโยชน์ หรือสร้างความมั่นคงในฐานะครอบครัว เช่น การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกัน การถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินร่วมกัน ซึ่งการได้รับการรับรองจากรัฐจะช่วยสร้างความเชื่อถือให้กับธุรกิจประกันภัยและธุรกิจบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ส่งผลทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตจากความต้องการในการทำประกันภัยหรือการร่วมสร้างครอบครัวหรือธุรกิจร่วมกับคู่รัก 

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจอื่น ๆ เฉพาะกลุ่ม เช่น ธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักหลากหลายเพศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ โดยเฉพาะซีรีส์วาย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก และยังสามารถสอดแทรกวัฒนธรรม สินค้าและบริการของไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก รวมถึงโอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลระดับโลก World Pride  ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในระดับสากลและก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องของไทยได้อย่างมหาศาล

กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับไทย และมีส่วนเสริมในการผลักดันเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคบริการให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภค LGBTQIA+ เป็นกลุ่มผู้บริโภคศักยภาพที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาภาคบริการของไทยเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการไทยผ่านตลาดกลุ่มผู้บริโภค LGBTQIA+ มากขึ้น