ครม.เคาะหลักการ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมถามกฤษฎีกาปมกฎหมาย

23 เม.ย. 2567 | 05:06 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2567 | 06:09 น.

ครม. เห็นชอบหลักการโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เคาะรายละเอียดเงื่อนไขโครงการ แผนการจัดหาแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ให้ 3 หน่วยงานสรุปอีกครั้ง พร้อมสั่งการถ้ามีข้อสงสัยปมกฎหมายให้ถามกฤษฎีกา

วันนี้ (23 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบผลการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะทำงาน และหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ทั้งกลุ่มเป้าหมาย แนวทางการเข้าร่วมโครงการ เงื่อนไขการใช้จ่าย ประเภทสินค้า การลงทะเบียนร้านค้า

ขณะที่แหล่งเงินการดำเนินโครงการ ซึ่งกระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงบประมาณ จะศึกษาในรายละเอียดต่อไป

“ส่วนข้อห่วงใยต่อโครงการ เช่น ประเด็นอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ก็ได้สั่งการว่าให้ส่งเรื่องไปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา โดยยอมรับว่า ทุก ๆ พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นชอบในหลักการของโครงการดังกล่าว” นายกฯ ระบุ

 

ครม.เคาะหลักการ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมถามกฤษฎีกาปมกฎหมาย

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เคาะวันที่จะเริ่มต้นโครงการ เพราะขึ้นอยู่กับการพัฒนาระบบมารองรับ โดยรัฐบาลได้พยายามเร่งรัด และจะทำให้เกิดความรอบคอบ โดยเฉพาะการจัดทำแอปพลิเคชันทั้งความเสถียร และความปลอดภัยของข้อมูลต่าง ๆ ด้วย แต่ยังยืนยันตามกรอบเดิมคือ ลงทะเบียนไตรมาสที่ 3 และ เปิดใช้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

ทั้งนี้นายกฯ สั่งการในที่ประชุมว่า หากมีข้อสงสัยในเรื่องข้อกฎหมายใด ๆ ก็ตาม ให้ดำเนินการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ดูในรายละเอียดแล้ว และมีความมั่นใจว่าเป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ แต่เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด รัฐบาลก็พร้อมสอบถามกฤษฎีกา

 

 

ก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้เห็นชอบรายละเอียดของแหล่งเงินที่นำมาใช้ในโครงการ โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง คือ

  1. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท 
  2. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท 
  3. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ (ธ.ก.ส.) จำนวน 172,300 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี รวมทั้งมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่าย รอบแรกเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น และในรอบที่สองเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า

ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่ผ่านบอร์ดมานั้น กำหนดให้การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า

ขณะที่ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้า เช่น สินค้าอบายมุข เติมน้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติมต่อไป