คลังยันธ.ก.ส. มีสภาพคล่อง 2 แสนล้าน เพียงพอแจกเงินดิจิทัล

20 เม.ย. 2567 | 04:28 น.

คลังยันดึงเงินธ.ก.ส. “แจกเงินดิจิทัล” ไม่กระทบสภาพคล่องแบงก์ และไม่ขัดพ.ร.บ.ธนาคาร พร้อมส่งกฤษฎีกาช่วยตีความการันตีอีกทาง ฝั่งรัฐพร้อมตั้งงบชำระในปีถัดไป ระบุธ.ก.ส.มีสภาพคล่อง กว่า 2 แสนล้านบาทรองรับ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 และแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทธนาคารเฉพาะกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง มีภารกิจหลักในการเป็นสถาบันการเงิน เพื่อพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาล

โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงินและสนับสนุนการพัฒนาแก่กลุ่มเป้าหมายในชนบทไทย ทั้งที่เป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการ กลุ่มบุคคล องค์กรชุมชนและสหกรณ์ทุกประเภท ที่เป็นองค์ประกอบในระบบเศรษฐกิจฐานรากของไทย นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญจากรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่เกิดจากภาระหนี้สินและราคาผลผลิตตกต่ำ

คลังยันธ.ก.ส. มีสภาพคล่อง 2 แสนล้าน เพียงพอแจกเงินดิจิทัล

 อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและคุณภาพชีวิตเกษตรกร ทำให้งวด 9 เดือน สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 ธ.ก.ส.มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ 71,087.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,687.95 ล้านบาทจากสิ้นงวด บัญชีปี 2565 ณ 31 มีนาคม 2566 มีลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมปกติ 3,954.73 ลดลง 8,756.44 ล้านบาทจากในสิ้นงวดบัญชีปี 2565

ขณะมีลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ 619,173.81 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 37,677.68 ล้านบาทจากสิ้นงวดบัญชีปี 2565 อยู่ที่ 581,496.13 ล้านบาท

ดังนั้นการที่รัฐบาลจะนำเงินใช้เงินจากธ.ก.ส.ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 172,300 ล้านบาท มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ร่วมกับเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 อีก 175,000 ล้านบาท ทำให้เกิดคำถามต่างๆตามมาว่า สามารถทำได้หรือไม่ จะกระทบต่อสภาพคล่องของธ.ก.ส.ในการดำเนินธุรกิจปกติหรือไม่ 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขอยืนยันว่า การใช้เงินตามมาตรา 28 จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของธ.ก.ส.อย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลมีวิธีบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพและจะไม่มีการขยายกรอบวงเงินมาตรา 28 เพราะเมื่อพ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 มีผลบังคับแล้วใช้ กรอบวงเงินที่จะใช้ได้จะกว้างขึ้น

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“ส่วนกระแสการถอนเงินฝากจากบัญชีของธ.ก.ส.นั้น ไม่เป็นความจริง และจากการติดตามประเด็นดังกล่าว ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือมีการแห่เบิกเงินจากบัญชีธ.ก.ส.เลย อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวล เพราะกว่าจะแจกจ่ายเงิน 10,000 บาท ช่วงปลายปี รัฐบาลมีวิธีบริหารจัดการแน่นอน” นายเผ่าภูมิกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ภายในเดือนเมษายนนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียดโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับแหล่งเงินของโครงการที่ส่วนหนึ่งจะนำมาจากธ.ก.ส. โดยมองว่า อาจจะขัดต่อกฎหมายของธนาคาร แต่ทางกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วว่า สามารถใช้แหล่งเงินดังกล่าวได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายของธนาคาร

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายและทำให้ทุกฝ่ายคลายข้อสงสัย ทางกระทรวงการคลังจะระบุไว้ในเรื่องที่จะเสนอเข้าครม.ว่า ควรให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาธ.ก.ส.เองก็ได้เข้ามาเป็นกลไกหลักในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในหลายโครงการ ทุกโครงการก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกร ซึ่งรวมถึง โครงการนี้ด้วยเช่นกัน

“การใช้เงินของธ.ก.ส.ถือว่า เข้าข่ายการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยรัฐบาลจะตั้งงบชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับธ.ก.ส.ในปีถัดๆไป ซึ่งการใช้จ่ายจริงจะเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2568 โดยคณะกรรมการของธนาคารจะต้องพิจารณาอนุมัติและเสนอต่อที่ประชุมครม.อีกครั้ง” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสภาพคล่องนั้น กระทรวงการคลังได้ประเมินสภาพคล่องของธ.ก.ส.แล้วว่า อยู่ในระดับเพียงพอที่จะใช้จ่ายในโครงการดังกล่าวได้ โดยปัจจุบันสภาพคล่องของธ.ก.ส.มีอยู่มากกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลกำหนดวงเงินที่จะใช้จ่ายในโครงการนี้ผ่านธ.ก.ส.จำนวน 1.72 แสนล้านบาทเท่านั้น

ขณะเดียวกันธ.ก.ส.ยังสามารถระดมเงินฝากจากประชาชนได้เพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยธ.ก.ส.จะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์โดยไม่ต้องผ่านมายังรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง 

สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น มีอยู่จำนวน 17.2 ล้านคน จำนวน 8 ล้านครัวเรือน แต่ผู้ที่ได้รับสิทธิ์จริงจะมีจำนวนเท่าไหร่นั้น จะต้องขึ้นอยู่กับเกษตรกรที่มาลงทะเบียน และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดทั้งในเรื่องของรายได้และอายุของผู้ได้รับสิทธิ์

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,985 วันที่ 21 - 24 เมษายน พ.ศ. 2567