เงินดิจิทัล 10,000 บาท คลังสรุปเงื่อนไขตามมติครม. ล่าสุด

23 เม.ย. 2567 | 06:45 น.

คลังสรุปเงื่อนไข“เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ล่าสุด หลังครม.ไฟเขียวกรอบโครงการ เร่งเปิดลงทะเบียนร้านค้าไตรมาส 3 พร้อมใช้จ่ายในไตรมาส 4

ความคืบหน้าโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ล่้าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามมติคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 และมีมติเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

วัตถุประสงค์โครงการ  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งสร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

ความจำเป็น : ในปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 2.7 ต่อปี (ข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานเคยประมาณไว้ โดยเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ และมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบ GDP ในไตรมาสที่ 4 กับ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ขจัดผลของฤดูกาลแล้ว (Seasonally Adjusted) พบว่า GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 หดตัวร้อยละ 0.6

นอกจากนี้ ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โตต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ร้อยละ 69

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยการดำเนินโครงการฯ ที่มีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมและช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ยังต้องมีความระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังรวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด

เงินดิจิทัล 10,000 บาทใครได้บ้าง?

เงินดิจิทัล 10,000 บาท กระทรวงการคลังได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ณ เดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก

ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กโดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า

เงินดิจิทัล 10,000 บาทซื้ออะไรได้บ้าง

ประเภทสินค้าที่สามารถนำเงินดิจิทัล 10,000 บาทไปซื้อสินค้า  คือ สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯได้ ยกเว้นสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ (Negative List) ซึ่งได้แก่

  • สลากกินแบ่งรัฐบาล
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม
  • บัตรกำนัล บัตรเงินสด
  • ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี
  • น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ

คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ: ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ได้แก่

  1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)
  2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
  3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT)

ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป

เงินดิจิทัล 10,000 บาทใช้ระบบอะไร

การจัดทำระบบ พัฒนาและดำเนินการระบบ อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วย

เงินดิจิทัล 10,000 บาทที่จะนำมาแจกให้กับประชาชนมาจากไหน

 :แนวทางเกี่ยวกับแหล่งเงินสำหรับการดำเนินโครงการฯ รวมเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท ได้แก่

  1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท
  2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท
  3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท

ระยะเวลาการดำเนินโครงการเงินดิจิทัล 10,000บาท 

เนื่องจากมีแนวทางการใช้แหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ พ.ศ. 2568 ในการดำเนินโครงการฯ ดังนั้น จึงจะต้องมีการพิจารณาระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับแหล่งเงินดังกล่าว โดยระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569

การป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท

จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบการมอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการฯ ตามมติคณะกรรมการนโยบายฯ ในเรื่องต่าง ๆ อาทิ

  • กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบกำหนดประเภทสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ (Negative List) เงื่อนไขเกี่ยวกับร้านค้าและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ
  • สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกันพัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการฯ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ซึ่งรวมถึงการจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม และอื่น ๆ
  • คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ซึ่งมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ  รับผิดชอบการตรวจสอบ วินิจฉัย การเรียกเงินคืน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ ที่ไม่ขัดต่อกรอบหลักการต่าง ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ และสอดคล้องกับระเบียบ กฎเกณฑ์ และกฎหมาย

โดยประสานการดำเนินงานของหน่วยงานผู้รับผิดชอบการดำเนินโครงการฯ ในส่วนต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์) เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นเลขานุการร่วม

2. เห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ

3. เห็นชอบมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบรายละเอียดโครงการฯ การลงทะเบียนโครงการฯ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดมีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้มีความชัดเจนก่อนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป”

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายฯ จะได้นำเสนอมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อให้สามารถผลักดันการดำเนินโครงการฯ ต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน จะได้เร่งพิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินโครงการฯ ที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบงานต่าง ๆ ในโครงการฯ ให้เป็นรูปธรรมได้ต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายฯ มีนโยบายที่จะให้ประชาชนและร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567