ครม.เคาะ 4 ความร่วมมือ ไทย-บังกลาเทศ ลุยทำ FTA - พลังงาน - ฟรีวีซ่า

23 เม.ย. 2567 | 09:32 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2567 | 09:33 น.

ครม.ไฟเขียว 4 ความร่วมมือ ไทย-บังกลาเทศ รับการเดินทางมาเยือนของนายกรัฐมนตรี ทั้งด้านพลังงาน การท่องเที่ยว ฟรีวีซ่าผู้ถือหนังสือเดินราชการ และการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ฉบับใหม่

วันนี้ (23 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ 4 วาระ ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างไทยกับบังกลาเทศ ทั้งด้านความร่วมมือพลังงาน ฟรีวีซ่า การท่องเที่ยว และการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ไทย – บังกลาเทศ 

สำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับบังกลาเทศ ทั้ง 4 เรื่อง มีดังนี้

ความร่วมมือด้านพลังงาน

ครม. มีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงไฟฟ้า พลังงาน และทรัพยากรแร่สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ

ร่างบันทึกฯ ฉบับนี้ เป็นกรอบและแนวทางการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างไทยและบังกลาเทศในด้านพลังงาน ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรด้านพลังงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใน 5 มิติหลัก ได้แก่ ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานหมุนเวียน ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบทวิภาคี 

โดยการจัดตั้งการประชุมด้านพลังงานประจำปี (Energy Forum) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนแนวนโยบายด้านพลังงานร่วมกัน การดำเนินความร่วมมือในโครงการด้านพลังงานแบบรัฐต่อรัฐ การผลักดันและอำนวยความสะดวกให้กับรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศในการดำเนินโครงการความร่วมมือด้านพลังงาน

 

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ฟรีวีซ่าราชการ

ครม. ยังมีมติเห็นชอบการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งบังกลาเทศ ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินราชการ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ โดยที่นายกรัฐมนตรี บังกลาเทศ จะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-27 เม.ย. 2567 

โดยทั้งสองประเทศเห็นชอบที่จะจัดให้มีการลงนามความตกลงฯ ในโอกาสดังกล่าว เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางและติดต่อราชการสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการของทั้งสองฝ่าย

สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เช่น ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการของไทยและบังกลาเทศ จะได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้า เดินทางออกจาก เดินทางผ่าน และพำนักอยู่ชั่วคราวในดินแดนของรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่เดินทางเข้า

ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการบินพลเรือนและการท่องเที่ยวแห่งบังกลาเทศ ซึ่งรองนายกฯ และ รมว. กต. บังกลาเทศ จะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เม.ย. 2567 จึงเห็นควรให้มีการลงนามความเข้าใจฯ ในโอกาสดังกล่าว

สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ เช่น บันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในระยะยาว เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน 

โดยมีกรอบความร่วมมือ เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและโครงการต่าง ๆ จัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน และการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 4 ปี และต่ออายุอัตโนมัติ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแจ้งความประสงค์ในการยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ

 

ครม.เคาะ 4 ความร่วมมือ ไทย-บังกลาเทศ ลุยทำ FTA - พลังงาน - ฟรีวีซ่า

 

FTA ไทย – บังกลาเทศ

ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) ที่จะเริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ไทย – บังกลาเทศ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศ ได้มีหนังสือถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือกับไทยใน 3 ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - บังกลาเทศ 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศ จึงได้เสนอร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของ พณ. ไทยและบังกลาเทศในการเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ไทย - บังกลาเทศ ภายในปี 2567 

มีสาระสำคัญระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนผลการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ที่แต่ละฝ่ายจัดทำไว้ และจะสานต่อการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งรัดกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงผ่านกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) ด้วย