23 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการตามที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เสนอ โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นอกจากนี้เห็นควรให้มีการออกเสียงทำประชามติ 3 ครั้ง และควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามประชาธิปไตยที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงเรื่องต่าง ๆ ได้โดยตรง
ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้เข้ามารายงานข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ต่อ ครม. ซึ่งครม. เห็นชอบตามรายงานที่เสนอ ดังนี้
การขอทำประชามติ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจะเป็นคำถามว่า เห็นชอบในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 หรือไม่ โดยครม. มอบหมายให้สำนักปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเสนอขั้นตอนการทำประชามติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติมาตรา 15 โดยเชื่อว่า การทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจะอยู่ในกรอบกฎหมายระหว่าง 90-120 วัน โดยการทำครั้งแรกจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,200 ล้านบาทซึ่งทำตามกฎหมายเดิมที่ระบุ
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ระบุว่า เชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกจะผ่านแม้ยังไม่มีแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติที่จะลดเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นเพราะจากการไปฟังเสียงประชาชนเขาอยากให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ทั้งนี้ หากทำประชามติครั้งแรกผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้รัฐสภาประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. เป็นคนกำหนดออกแบบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากนั้นเมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ก็ทำประชามติครั้งที่ 2 จากนั้นจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เมื่อได้ ส.ส.ร. แล้ว จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อร่างเสร็จก็จะทำประชามติครั้งที่ 3 ซึ่งตนมั่นใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมทั้งฉบับจะอยู่ภายในกรอบอายุของรัฐบาลชุดนี้