นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนจะเดินทางไปเยือนจีน พร้อมกับผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 7 - 9 พ.ค.นี้ โดยมีกำหนดการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 31 ระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ โดยจะหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง
“การเดินทางไปจีนครั้งนี้ จะใช้โอกาสในการพบปะนักลงทุนจีน เพื่อประชาสัมพันธ์และเชิญชวนร่วมลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งการเดินทางมาจีนครั้งนี้ จะถือเป็นเวทีสุดท้ายของการโรดโชว์แลนด์บริดจ์ หลังจากนั้นกระทรวงฯ จะเริ่มกระบวนการจัดทำเอกสารเชิญชวนการลงทุนตามเป้าหมาย”
ทั้งนี้จะมีการหารือถึงความพร้อมของไทยในการผลักดันโครงการไฮสปีดเทรนไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้ว รวมทั้งรัฐบาลมีเป้าหมายเร่งผลักดันโครงข่ายรถไฟสายนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและจีน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค
ขณะเดียวกันหลังจากโรดโชว์แล้วเสร็จ จะเริ่มดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2573
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเดินทางไปประชุม JC ระดับรัฐมนตรี ในโครงการไฮสปีดไทย – จีนครั้งนี้ ถือเป็นการฟื้นการเจรจาร่วมโต๊ะการประชุมเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการเดินทางมาร่วมการประชุม เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลให้ฝ่ายไทยและจีนไม่ได้เดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุม แต่เป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล Video Conference
สำหรับโครงการไฮสปีดไทย - จีน ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้าง ณ วันที่ 25 มี.ค. 2567 มีความคืบหน้าประมาณ 32.31% ล่าช้าประมาณ 28.76% เหลือรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งรัด และยังมีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2571
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา บอร์ด รฟท.มีมติอนุมัติไฮสปีดไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงินรวม 341,351 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท
สำหรับโครงการไฮสปีดไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยขั้นตอนภายหลังบอร์ด รฟท.อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว จะรายงานไปยังกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเปิดประกวดราคางานก่อสร้างต่อไป
ส่วนแผนงานเบื้องต้นจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ภายในปี 2568 โดยจะแบ่งออกเป็นงานโยธา 13 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาแนวเส้นทาง 11 สัญญา มีมูลค่า 20,000 ล้านบาทต่อสัญญา สัญญาศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา และสัญญาศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา ส่วนสัญญางานระบบราง ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล จะรวมเป็น 1 สัญญา
นอกจากนี้โครงการฯมีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างงานโยธา 4 ปี หรือ 48 เดือน โดยการก่อสร้างงานโยธา จะแบ่งเป็น ทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กิโลเมตร ทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมี 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี และ 5.สถานีหนองคาย คาดว่าดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2573 พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2574