ในงานสัมมนา Go Green 2024 : The Ambition of Thailand จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ : UGT: The investment attraction strategy ยุทธศาสตร์ลงทุนไทยเพื่ออุตสาหกรรมสีเขียว ใจความสำคัญระบุว่า
“Go Green” เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเทรนด์ของโลก ช่วง 4-5 ปีที่แล้ว เวลาพูดเรื่อง Green ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นเรื่องที่พูดคุยกันในระดับของ concept ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกคนเริ่มจะตื่นตัวมากขึ้นและเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว และมุ่งมั่นเรื่อง Go Green อย่างจริงจัง จากเป็นเรื่องที่ถูกส่งต่อจากระดับประเทศมาสู่ระดับขององค์กร และมาสู่ทุกภาคส่วนที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพลเมืองของโลก
สำหรับประเทศไทยมีความมุ่งมั่นชัดเจนในเรื่องนี้ และได้ตั้งเป้าหมายจะไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และจะไปสู่ Net Zero (ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ในปี 2065 แต่สิ่งสำคัญคือเราจะแปลง Ambition (ความทะเยอทะยานและปรารถนาอย่างแรงกล้า )ไปสู่ Action (การปฏิบัติ) ได้อย่างไร ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผ่านกลไกการสนับสนุนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก.และอีกหลายหน่วยงานที่จะช่วยกัน
ทั้งนี้หากสามารถจะแปลงจาก Ambition ไปสู่ Action ของประเทศได้ ไทยจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ โดยถ้าเราสามารถจะประกาศได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ Green ที่สุดในภูมิภาค เป็นหนึ่งในประเทศที่ Green ที่สุดในโลก เป็นเมืองหลวงของอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) ถ้าทำแบบนี้ได้ไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้อีกมหาศาลจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ซึ่งจะตอบรับกับที่นายกรัฐมนตรีที่พูดถึงเรื่องสึนามิการลงทุนเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเกิดขึ้นได้แน่นอน และไม่เพียงแต่เรื่องการลงทุน ถ้าไทยทำได้จริงก็จะเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก และทำให้ไทยสามารถขึ้นเป็นผู้นำในอีกหลาย ๆด้านในอนาคตได้ด้วย
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกับการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า จากที่ได้มีโอกาสร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเดินทางโรดโชว์ดึงการลงทุนในหลายประเทศ ช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา และจากที่ได้พูดคุยกับนักลงทุน ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนที่ใดนั้น ต้องตอบโจทย์ใน 3 เรื่องที่เป็นข้อกังวล (Concern) ในเวลานี้
เรื่องแรก คือ เรื่องของการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายเรื่อง Carbon Neutrality & Net Zero เรื่องที่สอง เรื่องปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) และ เรื่องที่ 3 เรื่องกติกาภาษีใหม่ของโลก(Global Minimum Tax) ที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)จะบังคับให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำของโลกในอัตรา 15% (เพื่อลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่)
อย่างไรก็ดี เรื่องที่ 2 กับเรื่องที่ 3 ถือเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับเฉพาะกลุ่ม เฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่ และเฉพาะอุตสาหกรรม แต่เรื่องแรกที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Green จะมีผลกับทุกบริษัท ทุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม
"บริษัทต่าง ๆ ที่มาพูดคุยกับบีโอไอในการเลือกแหล่งลงทุน จะพิจารณาจากแหล่งลงทุนที่ทำให้เขามั่นใจได้ว่า จะสามารถบรรลุเป้าหมายความกลางทางคาร์บอน หรือ Net Zero ที่ประกาศไว้ได้ โดยเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยประกาศไว้ในปี 2050 แต่เป้าหมายของบริษัทชั้นนำจะเร็วกว่านั้น บางบริษัทในปี 2030 บางบริษัทในปี 2040 ซึ่งทิศทางและนโยบายของแต่ละบริษัทจะมีความชัดเจนและไทม์ไลน์ของสปีดที่เร็วขึ้น เพื่อให้บรรลุผลได้ตามเป้าหมาย"
ดังนั้นบีโอไอในฐานะเป็นหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ต้องสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนว่า ถ้าเข้ามาตั้งโรงงานในไทยแล้วจะช่วยให้เขาบรรลุเป้าหมายนั้นได้
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน บทบาทของบีโอไอในการส่งเสริมการลงทุน “Go Green”ได้ให้การส่งเสริมใน 4 ภาคส่วนที่สำคัญได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง และภาคชุมชน
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม บีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่ม BCG ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 50 กิจการที่ให้การส่งเสริม ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการเกษตร อาหาร ไบโอเทคโนโลยี พลังงานสะอาด ธุรกิจบริการ ด้าน Circular Economy ซึ่งในการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566)ได้ให้ส่งเสริมไปแล้วมากกว่า 2,600 โครงการ(2,675 โครงการ) เงินลงทุนรวม 497,018 ล้านบาท
อีกมาตรการสำคัญของบีโอไอคือ ได้ให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีการปรับตัวเพื่อไปสู่ Smart and Sustainable Industry เช่น มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในกิจการ ง่ายที่สุดคือ การติดแผงโซลาร์เซลล์ หรือมีการใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ ในกิจการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยเป็นมาตรการที่ทำงานร่วมกับ อบก. รวมไปถึงการยกระดับกิจการด้วยการมีมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลต่าง ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายของบริษัทในการทำสิ่งเหล่านี้สามารถมาขอรับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอได้ โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ให้เป็นเวลา 3 ปี จากรายได้ของกิจการที่ทำอยู่เดิมในวงเงินไม่เกิน 50% ของสิ่งที่ลงทุนในกิจกรรมเหล่านี้
“สถิติผู้ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ ในส่วนของ Sustainable Industry สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมในปี 2561-2566 ทั้งเพื่อการประหยัดพลังงาน / ใช้พลังงานพลังงานทดแทน / ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือยกระดับมาตรฐานเพื่อความยั่งยืน มีจำนวนทั้งสิ้น 1,280 โครงการ เงินลงทุน 68,662 ล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีหลัง (2565-2566) มีคนเข้ามาขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นมากจากปีก่อนหน้า เนื่องจากกระแสเรื่อง Green มีความเข้มข้นมาก และช่วงหลังโควิดบริษัทต่าง ๆ ตระหนักดีว่าต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้เพื่อโลกอนาคต"
ในส่วนของภาคพลังงาน บีโอไอเน้นการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานพลังงานลม ไบโอแมส (ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ) ไบโอแก๊ส ไฮโดรเจน รวมทั้งการนำขยะมาทำพลังงาน เป็นกิจการที่ทางบีโอไอให้สิทธิประโยชน์สูงสุด (ยกเว้นภาษีเงินได้ 8ปี)
จะเห็นว่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพลังงานหมุนเวียนสูงขึ้นมากโดยเฉพาะในปีที่แล้วมีถึง 440 โครงการ เงินลงทุนรวม 70,691 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า (ปี 2565 ขอรับการส่งเสริม 464 โครงการ เงินลงทุน 23,331 ล้านบาท) ซึ่งตรงนี้จะเห็นถึงความตื่นตัว และความจำเป็นที่ดีมานด์ของพลังงานสะอาดสูงขึ้นมากทำให้ต้องมีธุรกิจในการผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น
อีกส่วนที่สำคัญที่เป็นกลไกใหม่ที่กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กำลังทำงานกันอยู่เพื่อจะออกมาตรการที่เรียกว่า UGT(Utility Green Tariff) ซึ่งเป็นกลไกจัดหาพลังงานสะอาด จะเป็นอาวุธใหม่ของประเทศไทยในการดึงการลงทุน เนื่องจากเวลาบริษัทมาคุยกับทางบีโอไอหรือคุยกับทางรัฐบาล คำถามหนึ่งของเขาคือ ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดเพียงพอหรือไม่สำหรับธุรกิจเหล่านี้
ขณะที่มีหลายบริษัทที่เป็นสมาชิกของ Club ที่เรียกว่า Re100 คนที่อยู่ในคลับนี้จะมีคอมมิตเม้นท์ว่า ต้องใช้พลังงานสะอาดในกิจการ 100% ซึ่งมีบริษัทชั้นนำในประเทศไทยจำนวนมากที่เป็นสมาชิกคลับนี้ ยกตัวอย่าง บริษัทดาต้าเซ็นเตอร์วันนี้ที่เข้ามาตั้งในไทยอย่างอเมซอน หรือคนที่เตรียมกำลังจะเข้ามาอย่าง Google, Microsoft ธุรกิจเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้พลังงานสะอาด 100%
"UGT2 จะเป็นอาวุธใหม่ในการดึงการลงทุนบริษัทชั้นนำ ที่บริษัทจะสามารถระบุผู้ผลิตได้และเป็นแหล่งใหม่ของพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกลไกนี้กำลังอยู่ในช่วงที่เตรียมประกาศราคา โดยราคาที่ทำประชาพิจารณ์ไปอยู่ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย เอกชนหลายรายบอกว่าราคายังสูงไป เข้าใจว่าอยู่ระหว่างการจารณากันอยู่ เดี๋ยวคงจะประกาศอัตราสุดท้ายมา โดยกลไกนี้คาดจะมีความพร้อม และเริ่มใช้ได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า"
ส่วนในภาคการขนส่ง เป้าหมายหลัก คือเรื่องของการปรับเปลี่ยนยานพาหนะไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งชัดเจนว่า รัฐบาลมีนโยบายที่มีความมุ่งมั่นและต่อเนื่องในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของภูมิภาค และเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
สำหรับเป้าหมาย 30@30 เป็นเป้าที่ยึดกันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มนโยบายนี้ว่า ภายในปี 2030 ไทยจะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 30% ของการผลิตรถทั้งหมด และมาตรการที่ออกมาครอบคลุมทุกด้านทั้งสิทธิประโยชน์ที่ให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรม EV ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ว่านี้ไม่ใช่มีให้เฉพาะผู้ประกอบรถยนต์ แต่มีให้กับทั้งอีโคซิสเต็ม ซึ่งรวมถึงแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนที่สำคัญ รวมถึงสถานีชาร์จ
มาตรการล่าสุดที่เพิ่งออกมาเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่แล้วคือ การส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ เพื่อดึงบริษัทระดับโลกมาลงทุนตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย จากที่ตนได้ไปโรดโชว์ที่จีนเมื่อสองสัปดาห์ก่อน มีข่าวดีว่าบริษัทที่ได้ไปพบมา ค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีอย่างน้อย 2 รายที่จะประกาศแผนการลงทุนในไทยปีนี้ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ มูลค่าลงทุนรวมกันสองรายไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
"ส่วนมาตรการที่สร้างตลาดอีวี หรือการฝั่งดีมานด์ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ตั้งแต่ EV3 มาถึง EV3.5 ตรงนี้มีผลให้บริษัทรถยนต์อีวีระดับโลกหลายรายที่ตัดสินใจเข้ามาตั้งฐานในประเทศไทย เฉพาะจากจีนเวลานี้มี 8 รายแล้วได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน)เช่น BYD, MG, GWM, Neta Changan Aion และล่าสุดคือ chery ซึ่งไม่ได้จบแค่นี้ จากนี้ไปเรายังเดินหน้าในการดึงค่ายรถใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม พร้อมกับการ Support ให้ค่ายรถเดิมในไทยสามารถจะเปลี่ยนผ่านสู่อีวีและสำเร็จ"
ขณะที่มาตรการล่าสุดที่เพิ่งออกมาคือ การส่งเสริมให้เกิดการใช้รถเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ อย่างรถบัส และรถTruck ให้ปรับเปลี่ยน เป็นรถไฟฟ้าด้วย คาดหวังมาตรการนี้จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปสู่รถบัส และรถ Truck อีวีได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คันในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้