วันนี้ (26 เมษายน 2567) นางสาวเอกอร คุณาเจริญ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เปิดเผยระหว่างการเดินทาง Press Visit ประเทศกัมพูชา ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ว่า ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดการเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมราฐ เสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดสรรงบประมาณ ปี 2567 งบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานกงสุลไทยเป็นแห่งแรกในประเทศกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 นี้
"ขณะนี้รายละเอียดของการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมราฐ ได้เสนอไปยังรัฐบาล เพื่อเข้าครม. แล้ว คาดว่าเร็ว ๆ นี้ จะได้รับการพิจารณา โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในเมืองเสียมราฐแล้ว เพื่อตั้งสถานกงสุล ซึ่งเมื่อตั้งเสร็จแล้วจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนไทย ทั้งนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง และนักธุรกิจที่มาลงทุนที่เมืองเสียมราฐ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของกัมพูชาได้มากยิ่งขึ้น" นางสาวเอกอร ระบุ
ทั้งนี้ในส่วนของการขอรับการจัดสรรงบกลางนั้น กระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการหารือสำนักงบประมาณ เพื่อสรุปวงเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเบื้องต้น เช่น ค่าเช่าสำนักงานในระยะแรกประมาณ 5 ปี โดยถือเป็นสถานกงสุลแรกที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด และยังช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านการดูแลและอำนวยความสะดวกคนไทย จากเดิมที่ต้องเดินทางไปสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ เพียงแห่งเดียว
สำหรับการจัดตั้งสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชานั้น ถือเป็นต่อยอดความร่วมมือระหว่าง ไทย-กัมพูชา หลังจากเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และส่งเสริมศักยภาพของทั้งสองประเทศที่มีร่วมกัน ซึ่งไทยจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในเมืองเสียมราฐ ในขณะที่กัมพูชาจะเปิดสถานกงสุลใหญ่แห่งใหม่ในสงขลาภายในปีนี้
ส่วนข้อมูลการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา ปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญของกัมพูชา นอกเหนือจากจีน สหรัฐฯ และเวียดนาม การส่งออกของไทยไปกัมพูชาในปี 2566 มีมูลค่า 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการนำเข้าของไทยจากกัมพูชามีมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ โดยกัมพูชาเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี
ทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ธุรกิจของไทยที่ดำเนินการในกัมพูชาครอบคลุมหลายภาคส่วน อาทิ อุตสาหกรรมเกษตร การผลิต ก่อสร้าง การให้บริการสุขภาพ รวมทั้งภาคบริการต่าง ๆ ด้วย