KEY
POINTS
ไทย-กัมพูชา มีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานตั้งแต่ปี 2493 พร้อมทั้งมีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการช่วยเหลือทางด้านการเงินในการเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และการสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค โดยมี สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA เป็นหน่วยงานหลักเข้าไปดำเนินการ
ที่ผ่านมา สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ได้มีการช่วยเหลือทางด้านการเงินกับประเทศกัมพูชา ณ ปีงบประมาณ 2567 คิดเป็นวงเงินอย่างน้อย 4,500 ล้านบาท และในอีกไม่นานนี้ โดยเฉพาะในปี 2568 จะมีโครงการอื่น ๆ ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นกว่า 6,000 ล้านบาท
ล่าสุด NEDA ได้นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทและถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือทางการเงิน Financial Assistance (FA) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างไทย-กัมพูชา
หลังจากพื้นที่บริเวณนี้ มีปัญหาการขนส่งสินค้าบริเวณด่านชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก-ปอยเปต อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถึงจังหวัดบันเตียเมียนเจย มีการจราจรที่ติดขัดบริเวณด่านพรมแดน โดยมีความหนาแน่นของรถบรรทุกขนส่งสินค้า รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาซื้อสินค้าที่ตลาดโรงเกลือมีการเติบโตในจำนวนที่สูง
ดันจุดยุทธศาสตร์ใหม่ชายแดน ไทย-กัมพูชา
นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA เปิดเผยว่า การพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ปัจจุบันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักต่าง ๆ ในประเทศกัมพูชาเสร็จสิ้นหมดแล้ว เหลือเพียงฝั่งประเทศไทย ที่ยังติดปัญหางานก่อสร้างล่าช้า
แต่คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นได้ภายในช่วงปลายปี 2568 ซึ่งหากเสร็จสิ้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบริการได้มากขึ้น
สำหรับการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งสองประเทศ โดยจะช่วยลดความแออัดของด่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก หรือ ด่านอรัญประเทศ เพราะต่อไปการขนส่งสินค้าจะมาใช้บริการที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ทั้งหมด
ส่วนด่านอรัญประเทศ จะใช้เฉพาะการเดินทางข้ามแดนของบุคคลเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทางข้ามแดนมากยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมาทั้งขนส่งสินค้า และการเดินทางข้ามแดนของคนไปรวมกันที่ด่านอรัญประเทศหมด ทำให้เกิดความแออัด โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า เดิมจะใช้เวลาไม่ต่ำว่าครึ่งชั่วโมงในการผ่านแดน ปัจจุบันเมื่อมีการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน แล้ว แม้จะยังไม่เต็มศักยภาพ เพราะติดคอขวดฝั่งไทย แต่ก็ลดเวลาการตรวจเช็คเอกสารของรถบรรทุกขนส่งสินค้าข้ามแดนเหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น” นายพีรเมศร์ ระบุ
ทั้งนี้ศักยภาพของจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ผ่านแดนและใช้เวลาการตรวจเช็คเอกสารประมาณวันละ 150-300 คัน แต่ในอนาคตหากฝั่งไทยสามารถก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบริเวณบ้านหนองเอี่ยนเสร็จสิ้น จะช่วยให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดนเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายรองรับรถบรรทุกขนส่งสินค้าประเภทต่าง ๆ ได้ถึงวันละ 600 คัน
จุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน
สำหรับโครงการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบทและถนนเชื่อมโยงไปยังถนนหมายเลข 5 นั้น เริ่มต้นจากในปี 2559 NEDA ได้ร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาในการก่อสร้างจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ในกัมพูชา หรือที่เรียกว่า จุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ตำบลปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ของกัมพูชา ตรงข้ามอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของไทย
สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกัมพูชา วงเงินรวม 928 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี อายุสัญญา 25 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี โดยมีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) ของกัมพูชา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
ส่วนรูปแบบของงานก่อสร้าง ประกอบไปด้วย ก่อสร้างอาคารที่ทำการด่านชายแดน ที่พักเจ้าหน้าที่ สถานีขนถ่ายสินค้าและลานกองเก็บ การปรับปรุงถนนเดิมในโครงการ และงานปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานหลักดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเกือบ 100% แล้ว เหลือเพียงงานตกแต่งเพิ่มเติมเท่านั้น
โดยการก่อสร้างจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน มีวัตถุประสงค์ เพื่อแยกการเดินทางเข้าออกเมือง ออกจากการขนส่งสินค้าผ่านแดน เป็นการลดความแออัดของการจราจร รองรับการขยายตัวทางการค้าและการให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ทำให้สามารถขนส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้น และเป็นช่องทางสำหรับขนส่งสินค้าเข้าออกระหว่างกัมพูชา-ไทย ที่เชื่อมต่อกับสะพานมิตรภาพบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท กับเส้นทางถนนหมายเลข 5 (AH1)
โดยการขับเคลื่อนงานก่อสร้างจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท มีความสำคัญต่อการขยายตัวทางพื้นที่เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศเป็นอย่างมาก รวมถึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไปพร้อมกัน
ทั้งนี้เมื่อเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สามารถส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อะไหล่รถจักรยานยนต์ รถใช้ในการเกษตร และสินค้าเกษตรของไทย และแก้ปัญหาการจราจรบริเวณด่านชายแดนคลองลึกที่คับแคบให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
กางแผนพัฒนา เฟส 2 เชื่อมโยงขนส่ง
นายพีรเมศร์ กล่าวว่า ในการดำเนินการเฟสแรก เกือบสมบูรณ์แล้ว หากดำเนินการในฝั่งไทยเสร็จสิ้นก็น่าจะช่วยให้การเดินทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทำได้คล่องตัวมากขึ้น โดย NEDA เห็นศักยภาพของพื้นที่จะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นไปอีกมาก ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาการขยายโครงการในระยะที่ 2 ต่อเนื่อง โดยเตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่นสะพานข้าม งานก่อสร้างถนน และระบบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มเติม คาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
“การพัฒนาพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน ไม่ใช่ทำให้การค้าขาย หรือเดินทางดีขึ้น หรือสะดวกขึ้นเท่านั้น แต่จะผลักดันให้จังหวัดสระแก้วของไทย และจังหวัดบันเตียเมียนเจย ของกัมพูชา เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านการค้าของภูมิภาค เพราะสามารถขนส่งไปยังท่าเรือได้เร็วที่สุด และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศด้วย” ผู้อำนวยการ NEDA กล่าว
พัฒนาถนนกัมพูชา เชื่อมอีสานใต้
นอกจากการพัฒนาจุดผ่านแดนถาวรสตึงบท-บ้านหนองเอี่ยน แล้ว NEDA ยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับกัมพูชา พัฒนาโครงการก่อสร้างถนน ซึ่งถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญด้านการเดินทาง และการขนส่งสินค้าที่เชื่อมต่อกับประเทศไทยทางด้านอีสานใต้ 2 เส้นทาง คือ
สำหรับ โครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 67 (NR67) ช่วงเสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงำ กัมพูชา เป็นโครงการที่ NEDA เข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน โดยทำการรปรับปรุงถนนหมายเลข 67 (NR67) จากเสียมราฐ มาเชื่อมต่อจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ของไทย มีวงเงินรวม 983 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี
มีขอบเขตโครงการ คือ ปรับปรุงผิวจราจรเป็นแบบแอสฟัลต์คอนกรีต (AC) และแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (RC) ระยะทางประมาณ 134.68 กิโลเมตร พร้อมปรับปรุงทางร่วมทางแยก จำนวน 7 แยก ปรับปรุงโครงสร้างสะพานและระบบระบายน้ำ จำนวน 25 แห่ง และติดตั้งท่อลอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ จำนวน 8 แห่ง และ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ทางและความปลอดภัย
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยสนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงระหว่างไทยและกัมพูชา และช่วยรวบรวมและกระจายการจราจรตามโครงข่ายเส้นทางของโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตลอดอายุของโครงการในแง่ของมูลค่าประหยัด ค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ และประหยัดเวลาในการเดินทาง
อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้มีการขยายตัวด้านการค้าชายแดน การขนส่งสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทั้งในไทยและกัมพูชา ส่งเสริมความร่วมมือของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับกัมพูชาในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกัน และส่งเสริมให้มีการเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างชาวไทยและกัมพูชา อีกด้วย
ส่วน โครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 68 (NR68) ช่องจอม/โอเสม็ด-สำโรง กลอรันห์ กัมพูชา เป็นการช่วยเหลือด้านวิชาการ คือ งานออกแบบรายละเอียดโครงการ วงเงิน 17.8 ล้านบาท เพื่อจัดทำแบบรายละเอียด และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงจากจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ มายังเมืองกลอรันห์ ใกล้ ๆ กับเมืองเสียมราฐ โดยเชื่อมต่อกับถนนสายหลักของกัมพูชา คือ ทางหลวงหมายเลข 6 (NR6)
เบื้องต้นประเมินผลที่จะได้รับว่า ผู้ใช้ถนนได้รับความปลอดภัยในการสัญจรทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงเชิงกายภาพที่มีมาตรฐานเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมระหว่างประเทศ ส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ
อีกทั้งยังสามารถต่อยอดการพัฒนาเชิงกายภาพไปสู่การพัฒนาเชิงทรัพยากรและเครือข่ายความร่วมมือบริเวณชายแดนให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม แลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวบริเวณ ชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนการค้าชายแดน ณ บริเวณ จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม โอเสม็ด จังหวัดสุรินทร์ และ จังหวัดอุดรมีชัย ของกัมพูชา ด้วย