2นักเศรษฐศาสตร์ TDRI ชี้ โจทย์ใหญ่"พิชัย" ต้องกล้า รักษาวินัยการคลัง

30 เม.ย. 2567 | 23:00 น.

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ TDRI เปิดมุมมองต่อภารกิจสำคัญของ "พิชัย ชุณหวชิร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในการนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

การปรับคณะรัฐมนตรี "เศรษฐา"  คือ จังหวะสำคัญของการเปลี่ยนผ่านผู้นำ "ทีมเศรษฐกิจ" ของประเทศ เมื่อ "พิชัย ชุณหวชิร" เข้ามารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

"พิชัย" เป็นเสมือนกัปตันคนใหม่ที่ต้องพาเศรษฐกิจไทยแล่นฝ่าคลื่นลมแรงของปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตตกต่ำ, หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น, รวมถึงความท้าทายจาก โครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" ที่เจออุปสรรคจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่า และแรงกดดันจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ปรับกลุ่มเป้าหมายให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

พิชัย ชุณหวชิร

 

ความเร่งรีบของภารกิจสำคัญสะท้อนจากการประชุมสำคัญของทีมเศรษฐกิจระดับสูงของรัฐบาล โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อบ่ายวันที่ 29 เมษายน 2567 มี นายพิชัย ขุณหวชิร รมว.คลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เดินทางมาเข้าห้องประชุม พร้อมด้วยนางแพทริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง

หลังประชุมยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง ทีมเศรษฐกิจทยอยออกจากทำเนียบด้วยสีหน้าเรียบเฉย แม้นางแพทริเซียจะพยายามผ่อนคลายบรรยากาศด้วยการบอกสั้นๆ ว่า "นายกฯ เพียงสอบถามการเบิกจ่ายงบประมาณปีนี้"

การเข้ามาทำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ได้รับความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์เป็นอย่างมากถึงนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้บริหารจัดการด้านการคลัง ทั้งในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ การบริหารหนี้สาธารณะ การปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ และการจัดการความเสี่ยงทางการคลัง เพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและวางรากฐานการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึง การการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การปรับครม.ครั้งนี้มี ข้อดี คือ นายกรัฐมนตรีไม่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หน้าที่โดยพื้นฐานควรจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาวินัยการคลัง เกิดมุมมองรอบด้านมากขึ้น

ดร.สมชัย จิตสุชน

กล้ารักษาวินัยการคลัง

"รัฐมนตรีอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี แต่การทำงานโดยทั่วไป ไม่ต้องทำตามนายกรัฐมนตรีสั่งเสมอไป หรือ ภาพใหญ่ถึงแม้จะทำตาม แต่สามารถท้วงติงประเด็นปลีกย่อยได้ เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลัง" ดร.สมชัยกล่าว

ดร.สมชัยกล่าวว่า สำหรับโจทย์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ คือ การรักษาวินัยการคลัง กล้าที่จะยืนหยัดและมีหลักการ เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตรง

"ขอให้รัฐมนตรีคลังคนใหม่กล้า ๆ หน่อย ขอให้ยึดหลักการ อย่าคิดถึงมิติทางการเมืองจนเกินไป ท่านมาจากภาคเอกชน เป็นซีอีโอ เป็นผู้ใหญ่ เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ มีต้นทุนทางสังคมระดับหนึ่ง อย่าเอาต้นทุนทางสังคมมาละเลงจนหายไป เพียงเพราะว่า มารับตำแหน่งและทำทุกอย่างตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ เครดิตที่สั่งสมมาตลอดชีวิตจะกระเทือนไป" ดร.สมชัยกล่าว

เร่งเดินหน้า นโยบายควิก-วิน 

ดร.สมชัยกล่าวว่า สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่ควรจะทำ แต่ถ้าจะต้องฝืนทำแน่ ๆ อย่างน้อยในเรื่องของแพลตฟอร์มควรจะไปใช้ แอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ดีกว่า เพื่อลดความเสี่ยง เพราะแอปฯใหม่ หรือ ซุปเปอร์แอป มีความเสี่ยงมาก และมีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส

ดร.สมชัย กล่าวว่า นโยบายควิกวินที่สามารถทำได้ทันที คือ Digital literacy เช่น อินเตอร์เน็ตฟรีทั่วประเทศ คอมพิวเตอร์ฟรี ในพื้นที่ห่างไกลติดชายขอบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ห่างไกล สร้างผลดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว

"ถ้าอยากกระตุ้นเศรษฐกิจจริง  ๆ โครงการคนละครึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตหลายเท่า เพียงแต่ต้องกล้า ๆ หน่อย กล้าที่จะยอมเสียหน้า หรือเปลี่ยนชื่อก็ได้ ไม่เรียกคนละครึ่ง เรียกอย่างอื่น เป็นของเพื่อไทย ไม่ใช่ของลุงตู่" ดร.สมชัยกล่าว

แนะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว

ดร.สมชัยกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำได้ หรือ นโยบายที่ต้องทำ คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว 3 เรื่อง  หนึ่ง Up-skill และ Re-skill ระดับชาติ เช่น สิงคโปร์และอินโดนีเซีย เพื่อวางรากฐานให้ระบบเศรษฐกิจโตได้มากกว่าดิจิทัลวอลเล็ตเยอะ   

"ต้องทำเป็นนโยบายระดับประเทศ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ และต้องทำอย่างทั่วถึง ให้เป็นคูปอง 6,000 บาท 9,000 บาท ให้ทุกคนไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประมาณ 30 กว่าล้านคน ใช้งบประมาณปีละแสนล้าน" ดร.สมชัยกล่าว

ดร.สมชัยกล่าวว่า สอง นโยบาย inclusive technology เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ดัดแปลงและหาวิธีใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เอื้อประโยชน์ไปสู่คนระดับล่างให้ได้มากที่สุด เป็นเรื่องที่ต้องทำ ไม่เห็นผลเร็ว ต้องทำนโยบายที่เห็นผลระยะยาว

ดร.สมชัยกล่าวว่า สาม นโยบายสวัสดิการ หลายเรื่องยังมีรูรั่ว รูโหว่อยู่ โดยเฉพาะสวัสดิการเด็กเล็ก ประเทศไทยประสบปัญหาเด็กเกิดน้อยลง ไม่ถึง 500,000 คนต่อปี และร้อยละ 60-70 เกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูอย่างเต็มศักยภาพ 

"นโยบายสวัสดิการเด็กเล็กต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง ต้องกล้า ๆ ที่จะทุ่ม ต้องกล้าๆ ที่จะไปควานหาเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อม เด็กชายขอบ ต้องเป็นนโยบายเชิงรุก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นนโยบายสังคมแต่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาวที่ดีที่สุดสูงมาก" ดร.สมชัยกล่าว

ด้าน ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  สะท้อนภาพภารกิจสำคัญของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ ว่าด้วยโจทย์ใหญ่ในการสานต่อและคลี่คลายวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ระยะสั้น ประชาชนเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรุนแรง รัฐบาลอาศัยกลไกจากกองทุนน้ำมันและการไฟฟ้าเข้ามาช่วยบรรเทาภาระให้ประชาชน จนสะสมหนี้เพิ่มมากขึ้น  

ระยะยาว คือการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้มีพลวัตใหม่ ด้วยการขยายภาคการท่องเที่ยวและเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ ช่วยกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมถึงประชาชนระดับรากหญ้า และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สะสมมานาน

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร

อย่างไรก็ตามแม้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงจำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินจากการกู้เงินมาลงทุนในโครงการดิจิทัลของภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องวางแผนและหาโอกาสที่จะลดภาระหนี้สาธารณะในระยะปานกลางให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่มีอยู่

ปฏิรูปโครงสร้างรายได้และรายจ่ายของรัฐ

ดร.นณริฏ เสนอว่า กุญแจสำคัญประการหนึ่งคือการปฏิรูปโครงสร้างรายได้และรายจ่ายของรัฐ ด้วยการขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล พร้อมทั้งพิจารณาปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสม และลดสิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษีบางรายการ นอกจากนี้ การปรับแผนการบริหารความเสี่ยงทางการคลังจากปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การปรับนโยบายให้ราคาพลังงานมีเสถียรภาพไม่ผันผวนเกินไป ถือเป็นกลยุทธ์หลักในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก

"ดีสุดคือ ใช้กลไกแทรกแซงให้ราคามีเสถียรภาพ คือ ไม่ผันผวนมากไป แต่ไม่แทรกแซงเกินตัวแบบให้ราคาถูกลงจนเคยตัว" ดร.นณริฏ กล่าว

ในที่สุดแล้ว หากรัฐบาลสามารถเร่งขับเคลื่อนการส่งออกและฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการคลังในระยะยาว