KEY
POINTS
ปัจจุบันพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังขาดระบบขนส่งมวลชน (Feeder) เชื่อมต่อการเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Seamless) ทำให้กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาระบบฟีดเดอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) ปัจจุบันกระทรวงฯอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเส้นทางฟีดเดอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนภายใน 2-3 เดือน
“นอกจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แล้ว หากเอกชนรายใดที่มีความพร้อมด้านการให้บริการขนส่ง ก็สามารถเข้าร่วมการจัดเส้นทางระบบฟีดเดอร์ได้”
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตามแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เบื้องต้น สนข.และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะดำเนินการสำรวจเส้นทางและตรวจสอบเส้นทางที่มีความทับซ้อนต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นจะส่งหนังสือถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบภายใน 1 เดือน โดยจะสรุปผลดังกล่าว หากไม่มีการคัดค้านจะเสนอต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเส้นทางและเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งขบ.จะดำเนินการประกาศเส้นทางในราชกิจจานุเบกษา เพื่อสรรหาผู้ประกอบการเดินรถในเส้นทางต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้การศึกษารูปแบบระบบ Feeder ที่เหมาะสมต่อพื้นที่บริเวณโดยรอบนั้นจะดำเนินการใช้รถหมวด 4 โดยเฉพาะรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (EV) แทนการใช้เครื่องยนต์ที่มีระบบสันดาปภายใน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศและลดฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ สอดรับมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
สำหรับแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1.ระยะสั้น (ปี 2567) จำนวน 30 เส้นทาง เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟสายสีแดง เช่น เส้นทางรังสิต (สายสีแดงเข้ม) - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต,เส้นทางวัดเสมียนนารี (สายสีแดงเข้ม) – โลตัสพงษ์เพชร,เส้นทางวัดเสมียนนารี (สายสีแดงเข้ม) – โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น,เส้นทางบางเขน (สายสีแดงเข้ม) - ถนนประชาชื่น – ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
เส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สายสีแดงเข้ม) – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ,เส้นทางสถานีหลักสี่ – รพ.มงกุฎวัฒนะ ,เส้นทางสถานีบางพลัด – สถานีบางบำหรุ,เส้นทางสถานีตลิ่งชัน – สถานีบางหว้า ,เส้นทางสถานีตลิ่งชัน – ถ.บรมราชชนนี,เส้นทาง MRT บางกระสอ (สายสีม่วง) – ถนนเลี่ยงเมืองนนท์,เส้นทาง MRT กระทรวงสาธารณสุข (สายสีม่วง) – กระทรวงสาธารณสุข,เส้นทาง MRT แยกติวานนท์ (สายสีม่วง) – ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ฯลฯ
2.ระยะกลาง (ปี 2568-2569) จำนวน 15 เส้นทาง เพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,รถไฟฟ้าสายสีเขียว, รถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประกอบด้วย เส้นทางสถานีสนามเป้า,เส้นทางสถานีเตาปูน (เส้นทางที่ 1-2),เส้นทางสถานียศเส,เส้นทางสถานีสะพานใหม่ (เส้นทางที่ 1-2) ,เส้นทางสถานีคูคต (เส้นทางที่ 1),เส้นทางสถานีการเคหะ,เส้นทางสถานีวงศ์สว่าง,เส้นทางสถานีดอนเมือง (เส้นทางที่ 1),เส้นทางสถานีบางกระสอ (เส้นทางที่ 1-2) ,เส้นทางสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ, เส้นทางสถานีแยกคปอ. และเส้นทางสถานีตลาดพลู
3.ระยะยาว (ปี 2570-2578) จำนวน 66 เส้นทาง เพื่อรองรับรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในปัจจุบันและรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เส้นทางสถานีภาวนา (เส้นทางที่ 1),เส้นทางสถานีแยกลำสาลี,เส้นทางสถานี ม.รามคำแหง,เส้นทางสถานีมีนพัฒนา,เส้นทางสถานีลุมพินี,เส้นทางสถานีโชคชัย 4,เส้นทางสถานีคลองเตย,เส้นทางสถานีคลองลำเจียก,เส้นทางสถานีลาดพร้าว 83,เส้นทางสถานีหลักหก,เส้นทางสถานีหลักสี่,เส้นทางสถานีลาดพร้าว 71
เส้นทางสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์,เส้นทางสถานีติวานนท์ (เส้นทางที่ 1),เส้นทางสถานีสะพานพระนั่งเกล้า,เส้นทางสถานีคลองห้า,เส้นทางสถานีคลองสาม (เส้นทางที่ 2),เส้นทางสถานีรัชโยธิน,เส้นทางสถานีรามอินทรา กม.6,เส้นทางสถานีคลองบางไผ่,เส้นทางสถานีวัดพระราม 9,เส้นทางสถานีลาดปลาเค้า,เส้นทางสถานีสำโรง,เส้นทางสถานีตลิ่งชัน,เส้นทางสถานีแยกร่มเกล้า,เส้นทางสถานีบางแค,เส้นทางสถานีพร้อมพงษ์,เส้นทางสถานีรังสิต (เส้นทางที่ 1-2),เส้นทางสถานีงามวงศ์วาน 18 ฯลฯ