นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนเมษายน 2567 เท่ากับ 107.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.19% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน มีดังนี้
สำหรับสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และ หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ โดยปัจจัยด้านหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มสูงขึ้น 0.28% แยกเป็นรายกลุ่ม ประกอบด้วย
- กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 3.04%
- กลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน สูงขึ้น 0.74%
- กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 2.64%
- กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.82%
- กลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน สูงขึ้น 0.48%
- กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 0.68%
ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.12% แยกเป็นรายกลุ่ม ประกอบด้วย
- หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร สูงขึ้น 0.87%
- หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.45%
- หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.41%
ขณะเดียวกันแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจาก
1. ฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของปี 2566
2. ราคาพืชผลการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งไข่ไก่ เนื้อสุกร ผัก และผลไม้
3. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ
4. ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ผู้ประกอบการมีแรงกดดันจากต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ทั้งอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 8 เดือนข้างหน้า (พ.ค.-ธ.ค.) ปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก เนื่องจากราคาน้ำมันน้ำปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปปี 2566 ฐานราคาสินค้าก็ค่อนข้างต่ำ และนอกจากนี้ การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบัน นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งกรมกาคค้าภายในให้ดูแลอย่างใกล้ชิด