นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของนักเรียนและนักศึกษา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจึงได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการด้านการปราบปราม โดยเร่งให้มีการปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบนำเข้า และผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังเด็ดขาด
โดยให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการด้านปราบปรามผู้กระทำความผิดสัมฤทธิ์ผลตามแนวนโยบายของรัฐบาลกรมศุลกากรจึงได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์การเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 สำหรับผู้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรตามมาตรา 242 (กรณีจับกุมผู้กระทำความผิด ณ ด่านพรมแดน) ฐานหลีกเลี่ยงอากรตามมาตรา 243 ฐานหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดตามมาตรา 244 และฐานซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ตามมาตรา 246
กรณีของกลางเป็นบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า จากเดิมที่ให้ผู้กระทำความผิดยกของกลางให้เป็นของแผ่นดินเพียงอย่างเดียว เป็นให้ผู้กระทำความผิดต้องชำระค่าปรับหนึ่งเท่าของราคาของรวมค่าอากร กับอีกหนึ่งเท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีอื่น ๆ (ถ้ามี) และให้ยกของกลางให้เป็นของแผ่นดิน เช่นเดียวกับสินค้าอ่อนไหวจำพวกสุรา บุหรี่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ หอมแดง และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น
“จากการเพิ่มเติมเกณฑ์และเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า เป็นการปรามผู้กระทำความผิดให้เห็นถึงบทลงโทษที่หนักมากขึ้น และสร้างความเกรงกลัวในการกระทำความผิด เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สังคมไทยปลอดภัยจากภัยของบุหรี่ไฟฟ้า อีกด้วย”