BOI ลุยจัดงาน SUBCON ดึงค่าย EV-ชิ้นส่วนซื้อขาย โชว์ยอดปีที่แล้ว 2.7 หมื่นล.

04 พ.ค. 2567 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2567 | 07:54 น.

บีโอไอผนึกกำลัง “คลัง-อุตสาหกรรม-พลังงาน”ดันซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่รถ EV ทั้งแบตเตอรี่และชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศหรือในอาเซียน ดีเดย์จัดงาน SUBCON ปี 67 ดันจับคู่ซื้อขาย หลังปีที่แล้วสร้างยอดกว่า 27,000 ล้าน

นายนฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยสามารถดึงดูดผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำจำนวนมากให้เข้ามาสร้างฐานการผลิตเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) สู่รถยนต์ไฟฟ้า( EV) รัฐบาลโดยบีโอไอและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันภายใต้บอร์ด EV เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าไปมีส่วนในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม EV ผ่านหลายมาตรการทั้งการกำหนดเงื่อนไขบังคับ มาตรการจูงใจ กิจกรรมเชื่อมโยงและจับคู่ธุรกิจ ดังนี้

1.การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 มีการใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) อินเวอร์เตอร์ เกียร์ทดรอบ หรือคอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ เป็นต้น ในกรอบเวลาที่กรมสรรพสามิตกำหนด

2.การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี (Free Zone) ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด เช่น การตรวจสอบคุณภาพ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในอาเซียน (Regional Value Content) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของชิ้นส่วนทั้งหมดด้วย 

BOI ลุยจัดงาน SUBCON ดึงค่าย EV-ชิ้นส่วนซื้อขาย โชว์ยอดปีที่แล้ว 2.7 หมื่นล.

3.ในการขอรับการส่งเสริมเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า บีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีการผลิตหรือจัดหาแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีหุ้นไทยข้างมาก (Local Supplier) โดยการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางเทคนิค ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ EV เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรม EV ต่อไป

4.บีโอไอได้ออก “มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์” ในจังหวะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่  มาตรการนี้จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทผลิตรถยนต์ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน(ICE),รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด(HEV),รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในระยะต่อไป  ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของทั้งผู้ประกอบการรถยนต์และชิ้นส่วนให้สามารถแข่งขันได้ และสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง

5.การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยบีโอไอได้ทำงานร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมยานยนต์ และบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดกิจกรรมเพื่อผลักดันในเรื่องนี้ เช่น กิจกรรมจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ (Sourcing Day) กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศเข้าไปมีบทบาทในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์

ในช่วงปีที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลายราย เช่น BYD, NETA, BMW และล่าสุดคือ MG  เพื่อจัดหาชิ้นส่วนและบริการสนับสนุนการผลิตจากในประเทศ โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมเจรจาธุรกิจมากกว่า 300 บริษัท และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า บีโอไอยังมีแผนจัดกิจกรรมดังกล่าวร่วมกับผู้ผลิต EV รายอื่น ๆ เช่น Changan, GAC-Aion และ Great Wall Motor เป็นต้น รวมทั้งบริษัทใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

นอกจากกิจกรรมมุ่งเป้ารายบริษัทแล้ว บีโอไอได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดงานใหญ่เพื่อแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) ในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ภายใต้ชื่อ SUBCON Thailand โดยเป็นเวทีในการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่ธุรกิจระดับนานาชาติ

โดยในปี 2566 งาน SUBCON Thailand ที่กรุงเทพฯ มีผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมร่วมออกงานกว่า 160 บริษัท เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจกว่า 8,500 คู่ มีมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่งาน SUBCON ในภาคตะวันออก ที่จัดขึ้นเป็นปีที่สองในพื้นที่จังหวัดชลบุรี มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 บริษัท เกิดการจับคู่เจรจาทางธุรกิจกว่า 800 คู่ และมีมูลค่าการซื้อขายชิ้นส่วนกว่า 7,000 ล้านบาท

“สำหรับงาน SUBCON Thailand ในปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 18 พฤษภาคม 2567 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงซัพพลายเชนในสองอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศและสร้างงานให้แก่คนไทยจำนวนมาก โดยงานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงจะมีการจัดสัมมนาพิเศษเพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV จากประเทศจีนได้นำเสนอแผนการพัฒนาซัพพลายเชน และนโยบายการจัดซื้อชิ้นส่วนของบริษัทในประเทศไทยอีกด้วย”

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ในการสร้างฐานอุตสาหกรรม EV หัวใจสำคัญคือ การพัฒนาซัพพลายเชนในประเทศให้ครบวงจรและเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรม EV ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก บีโอไอมีนโยบายสนับสนุนให้ค่ายรถยนต์ EV ต่าง ๆ จัดหาชิ้นส่วนจากในประเทศให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของค่ายรถยนต์เองแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และเกิดการเชื่อมโยงลงมาถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยในกลุ่ม Tier 2-3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ไทยด้วย

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าได้สั่งสมประสบการณ์และพัฒนาทักษะ จนสามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานสากล ป้อนให้กับบริษัทรถยนต์ชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ายรถญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกา จึงมั่นใจได้ว่าบริษัทเหล่านี้ พร้อมจะเป็น Supplier ที่มีคุณภาพให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน