วันนี้ (7 พฤษภาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
“ที่ผ่านมาการสื่อสารของโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้สื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการในด้านไหน และติดปัญหาในด้านใด ซึ่งการชี้แจงบ่อย ก็จะช่วยสร้างความชัดเจน และไม่มีข้อกังขาในสังคม จะเป็นผลดีต่อรัฐบาล และการขับเคลื่อนโครงการด้วย”
ส่วนกรณีการแบ่งงาน รมช.คลัง ว่าจะให้ใครเป็นผู้กำกับดูแลและขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น เชื่อว่า ไม่นานนี้ นายพิชัย ชุหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะสรุปเรื่องการแบ่งงานว่า รมช.คนไหนจะดูแลงานด้านอะไรบ้าง และการทำงานก็ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม
ขณะที่ประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย นั้น รมช.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีนโยบายนี้ ขณะที่กรณีของเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ที่ 1- 3% ต่อปี ต้องทบทวนหรือไม่ ยอมรับว่า ต้องหารือร่วมกับ ธปท. แต่มองว่ากรอบที่ 1-3% ไม่ใช่ปัญหา เพราะปัญหาคือการที่เงินเฟ้อหลุดกรอบ ไม่อยู่ในเป้าหมายเป็นระยะเวลานานอาจจะกระทบกับเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ก็ต้องมาคุยกันว่าทำอย่างไรให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบต่อไป
สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งล่าสุด ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เงื่อนไข และรายละเอียดเบื้องต้น ทั้งการใช้จ่าย ประเภทสินค้า คุณสมบัติร้านค้า การเตรียมพร้อมด้านระบบ โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop
เช่นเดียวกับประเด็นหลักเกี่ยวกับแหล่งเงินของโครงการ ซึ่งในการประชุมครั้งล่าสุด ได้ข้อสรุปว่า จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่ การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท, เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท และการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท
ทั้งนี้มีการประเมินว่า ในการประชุมบอร์ดเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ครั้งต่อไป คาดว่าที่ประชุมน่าจะมีรายละเอียดของการดำเนินการชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรับฟังข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย