KEY
POINTS
ศิริกัญญา ตันสกุล อดีตนักวิจัยทีดีอาร์ไอ-ผู้จัดการฝ่ายวิจัยสถาบันอนาคตไทยศึกษา เข้าสู่เส้นทางการเมืองบนเก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่
ปัจจุบัน "ศิริกัญญา" ทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ สองสมัย พ่วงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค-หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล
"ศิริกัญญา" เข้าใกล้ศูนย์กลางอำนาจ-ทำเนียบรัฐบาลมากที่สุดในตำแหน่ง "ว่าที่ รมว.คลัง" แต่การจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลต้องล้มคว่ำไปเสียก่อน
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ "ศิริกัญญา" ในช่วงโค้งหักศอกโครงการ "เงินดิจิทัลวอลเล็ต" นโยบายเรือธงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก่อนจอดป้าย-เทียบท่า
"ศิริกัญญา" เริ่มต้นชำแหละแหล่งที่มาของงบประมาณ 5 แสนล้านบาทที่จะนำมาใช้ดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต
ก้อนแรก จากงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท ถ้าจะใช้ต้องออก พ.ร.บ.โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีเพิ่มเติม เรียกว่า “งบกลางปี”
ถ้าต้องมีการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเท่ากับว่า พ.ร.บ.งบปี 67 ที่บังคับใช้แล้วจะยังไม่มีการใช้จ่าย ต้องเอากลับมาที่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรื้ออีกรอบ มีตรงไหนตัดได้อีก เพื่อให้รัฐบาลเอาไปใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต
“เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองและสาม ซึ่งจะต้องได้แรงส่งจากงบปี 67 โดยเฉพาะงบลงทุน กลายเป็นว่า ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก กลับมาเริ่มต้นใหม่ จัดสรรงบประมาณกันใหม่”
“ศิริกัญญา” บอกถึงข้อจำกัดเรื่อง “เงื่อนเวลา” การใช้งบปี 67 ล่าช้าและเหลือระยะเวลาใช้งบเพียง 5 เดือน หลังจากร่างพ.ร.บ.งบปี 67 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา นับ 1 การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ซึ่งยังคลุมเครือว่าจะเอามาจากไหน พร้อม "เก็งข้อสอบ" จะมาจาก 3 ส่วน
“การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯงบปี 67 มีการตัดงบที่ใช้ไม่ทันไปแล้ว มีการเช็กงวดงานก่อสร้าง งวดงานส่งมอบสินค้าครุภัณฑ์ จึงเกิดคำถามว่า งบปี 67 ที่จะเอามาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 1.7 แสนล้านบาทจะเอามาจากไหน”
ส่วนแรก คือ งบกลาง 99,800 ล้านบาท สามารถโอนเปลี่ยนแปลงมาใช้กับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะเราไม่รู้สถานการณ์ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นและรัฐบาลยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณในอนาคตหรือไม่
“สถานการณ์ไม่แน่นอนสูงหลายเรื่อง ทั้งสงครามอิสราเอลกับอิหร่าน ผลกระทบที่จะตามมาในเรื่องราคาน้ำมัน ภัยแล้งที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตรต่ำกว่าความเป็นจริง ภาคส่งออกมีความไม่แน่นอนสูง”
ส่วนที่สอง โอนเปลี่ยนแปลงงบจากหน่วยงานต่าง ๆ ต้องไปตัด ไปลด จำเป็นจะต้องเจรจากับเจ้าของกระทรวงที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมให้หั่นหรือไม่
ส่วนที่สาม กู้เพิ่ม โดยออกเป็น “งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติม” เพราะมีที่ว่างเหลือที่จะกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบปี 67 ให้เต็มเพดานราว 100,000 ล้านบาท
“ทั้งสามแนวทางยากลำบากและมีความเสี่ยงสูง”
“ที่จะกู้เพิ่มจะกระทบภาระหนี้สาธารณะและดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน ถ้าจะโอนเปลี่ยนแปลงไปตัดลดงบกระทรวงอื่น พรรคร่วมรัฐบาลอาจไม่พอใจ ถ้าจะใช้งบกลางก็ยังต้องเผื่อไว้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้เงิน”
ก้อนที่สอง เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณปี 68 ภายใต้ชื่อว่า "ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ" วงเงิน 152,700 ล้านบาท
เป็น "รายการใหม่" อยู่ในงบกลาง สร้างความยืดหยุ่นให้รัฐบาลระดับหนึ่ง ถ้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ไปต่อ อาจนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้
เพราะสามารถตั้งเงินสำรองฯ ให้เพิ่มขึ้นได้ จะหยิบไปใช้อะไรก็ได้
แต่รัฐบาลเลือกทำเป็นรายการใหม่ เพราะงบกลาง เงินสำรองฯ มีกรอบวินัยการเงินการคลัง ห้ามเกิน 3 % ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ถ้าบวกอีก 1.7 แสนล้านบาท จะเกินกรอบที่วางไว้
ที่สำคัญการไปเพิ่มในส่วนนี้ คือการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลเพิ่ม งบปี 68 ไม่มีเปลี่ยนแปลง ส่วนที่งอกขึ้นมา 1.5 แสนล้านบาท (ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ) ใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตล้วน ๆ
หมายความว่า ไม่มีการปรับเปลี่ยน ลดงบประมาณ หรือ จัดสรรงบ 3.6 ล้านล้านบาทเดิม เพื่อมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต แต่เป็นการ "ออนท็อป"
การกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มเติมสำหรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตครั้งนี้ มีความเสี่ยง เป็นการกู้เกือบเต็ม กฎหมายกำหนดไว้ ต้องเท่ากับ 20 % ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี บวก 80 % ของเงินคืนต้นเงินกู้ ประมาณ 8.7 แสนล้านบาท
กังวลการตั้งงบจนเกือบเต็มเพดานการกู้เงินแบบนี้ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะปี 68 คาดการณ์ไม่ได้เลยว่า รายได้ตัวไหนจะถูกจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่
สถานการณ์เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง มีความเสี่ยงเศรษฐกิจตกต่ำ ค่าเงินไม่เหมือนเดิม ราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลทั้งสิ้น
ถ้าไม่เป็นไปตามสมมุติฐาน รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เพิ่มเพื่อให้ใช้เงินได้เต็มทั้ง 3.75 ล้านล้านบาท อาจจะเกิดปัญหาได้ในภายหลัง
สิ่งที่เป็นกังวลมากกว่าตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี คือ ภาระดอกเบี้ย ซึ่งสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลในปี 68 ดอกเบี้ยที่ต้องใช้คืนเพิ่มขึ้นเป็น 320,000 ล้านบาท คิดเป็น 11 % ของรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้
นอกจากเบียดบังงบประมาณที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศแล้ว บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ความน่าเชื่อถือจะดูว่า ภาระดอกเบี้ยเกิน 10 % หรือไม่ ที่จะอยู่ในเรตติ้งเอลบ (A-) ซึ่งขณะนี้ไทยอยู่ในเรตติ้ง สามบีบวก (BBB+)
บริษัทจัดอันดับเครดิตอีกเจ้า คือ มูดี้ส์ ถ้าเกิน 11 % ไม่ใช่เกรดที่น่าลงทุน หรือ ไม่ใช่ Investment grade สุ่มเสี่ยงต่อบริษัทจัดอันดับเครดิตลดอันดับในอนาคต
แหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเลตก้อนที่สาม การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ วงเงิน 172,300 ล้านบาท หรือ เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ความเสี่ยงประการแรก คือ ความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย ธ.ก.ส.มีกฎหมายของตัวเอง คือ พ.ร.บ.ธ.ก.ส.พ.ศ.2509 มาตรา 9 (3) กำหนดวัตถุประสงค์ทำอะไรได้บ้าง
“ต้องตีความอย่างมากว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเข้าพ.ร.บ.ธกส.มาตรา 9 (3) หรือเปล่า ท้ายที่สุดรัฐบาลส่งไปหารือกับกฤษฎีกา สรุปแล้วรัฐบาลใช้เงินของธกส.ได้หรือไม่”
ความเสี่ยงประการที่สอง คือ ความเสี่ยงทางด้านการเงิน ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่า สภาพคล่องส่วนเกินของธ.ก.ส.มีเพียงพอ แต่รัฐบาลไม่เคยอธิบายว่ามีอยู่เท่าไหร่ เกิดความกังวล แห่ไปถอนเงิน หรือโยกย้ายทรัพย์สินของตัวเองออกจากธ.ก.ส.
“รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความกระจ่าง จะไม่กระทบกับสถานะทางการเงินของธ.ก.ส. เพราะที่ผ่านมารัฐบาลอื่นใช้เงินจากธ.ก.ส. ปีละไม่เกินแสนล้านบาท เช่น โครงการประกันรายได้ 8-9 หมื่นล้านบาท”
การใช้เงินธ.ก.ส.ครั้งนี้ 1.7 แสนล้านบาท เป็นเงินก้อนใหญ่ จำเป็นต้องเกิดความโปร่งใส จะได้ไม่กระทบสถานะทางการเงินของธ.ก.ส.ด้วย
เมื่อไหร่ที่ธ.ก.ส.มีปัญหา หารายได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องกันเงินส่วนหนึ่งไปให้รัฐบาล ไม่รู้รัฐบาลใช้คืนเมื่อไหร่ ให้ดอกเบี้ยไม่สูงมาก ผลที่จะเกิดขึ้น คือ ธ.ก.ส.ต้องหารายได้จากทางอื่นมาทดแทน เช่น การขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้
ความเสี่ยงประการที่สาม คือ ความเสี่ยงทางการคลัง ธ.ก.ส.มีปัญหาเรื่องการบริหารเงินสด เพราะแทบจะไม่รู้ว่า รัฐบาลจะมาเอาเงินไปเมื่อไหร่ เท่าไหร่ และรัฐบาลจะใช้คืนหนี้เท่าไหร่และเมื่อไหร่แต่ละปี
หนี้ในส่วนนี้ไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะ จึงแทบไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ อาจจะมีการเปิดข้อมูลในรายงานความเสี่ยงทางการคลังแค่ปีละครั้ง
“นโยบายกึ่งการคลัง” เกิดขึ้นได้ทุกรัฐบาล อยากให้ใช้อย่างจำกัด ไม่ใช่อยากจะใช้เมื่อไหร่ก็ใช้ เมื่อไม่มีการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร สุดท้ายไม่รู้ว่าแต่ละปีรัฐบาลใช้ไปเท่าไหร่ และธ.ก.ส.ไม่รู้ว่าหนี้ที่รัฐบาลติดค้างอยู่จะได้คืนเท่าไหร่ในแต่ละปี
ที่ผ่านมาเฉพาะโครงการต่าง ๆ ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ที่เป็น “งบนอกงบประมาณ” รัฐบาลใช้ไป 6 แสนกว่าล้านบาท อีกส่วนหนึ่งให้กระทรวงการคลังกู้มาให้ธ.ก.ส.กู้ต่อในโครงการจำนำข้าวอย่างเดียว หนี้คงเหลือ 2 แสนล้านบาท
ไม่รวมที่ติดหนี้ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บสย. ขสมก. การรถไฟแห่งประเทศไทย พวกนี้เป็นเจ้าหนี้ที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินที่ให้ไปทำนโยบายล่วงหน้าทั้งนั้น
“วิธีการใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 เพื่อใช้เงินนอกงบประมาณ โดยใช้นโยบายกึ่งการคลังแบบนี้ มีความไม่โปร่งใส และภาระที่เกิดขึ้นในแต่ละปีที่จะต้องใช้คืน สุดท้ายเป็นภาระงบประมาณ”
ยกตัวอย่างเช่น ปีที่แล้ว ตั้งงบใช้คืน ธ.ก.ส.ประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท ปีนี้ถ้ามีการใช้เพิ่มอีก 1.7 แสนล้านบาท ต้องใช้คืนในแต่ละปีอย่างต่ำแสนล้านบาทขึ้นไป รวมกับภาระดอกเบี้ย 5 แสนล้านบาท ไม่รวมเงินต้น กินพื้นที่งบประมาณ 7 แสนล้านบาท
เท่ากับว่า รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บภาษีมาได้ 15 % กลายเป็นเงินที่จะต้องไปใช้คืนหนี้เดิม หนี้สาธารณะ หนี้มาตรา 28 ที่รัฐบาลก่อไว้
เป็นความเสี่ยงสำคัญของแหล่งที่มาของโครงเงินดิจิทัลวอลเล็ตทั้ง 3 ก้อน จะส่งผลต่อภาระทางการคลังในอนาคต ทำให้ “พื้นที่ว่างทางการคลัง” ที่จะรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคตเหลือน้อยมาก
หนี้สาธารณะเหลืออยู่เพียง 2.5 % ต่อจีดีพี ถ้ามีวิกฤตครั้งต่อไป จำเป็นต้องขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะอีกครั้ง
จากเดิมที่เคยตั้งไว้ 60 % และเจอโควิด-19 รอบนี้ถ้ามีวิกฤตอีกคงทะลุ 70 % ต่อจีดีพี ภาระดอกเบี้ยทำให้งบประมาณที่เหลือเอาไปใช้โครงการอื่น ๆ ถ้าจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนขนาดใหญ่อีกจะไม่เหลือพื้นที่ว่างทางการคลังไปใช้ในอนาคต
ยังไม่ต้องพูดถึงอาจจะจำเป็นต้องขันนอตการจัดเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น ต้องหาภาษีตัวใหม่ ๆ เพื่อทำให้รายได้ของรัฐบาลสูงขึ้นด้วย ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ใช้มาตรการทางภาษี เช่น ลดราคาน้ำมันจะกลับมาอีกได้ยากมาก
ถ้าเกิดเหตุการณ์ เช่น สงครามอิสราเอลกับอิหร่านยืดเยื้อ ราคาน้ำมันขึ้นไปเตะ 100 เหรียญฯต่อบาเรลอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้น กลไกทางภาษีสรรพสามิตไม่น่าจะใช้ได้อีกต่อไป เพราะรัฐบาลได้ใช้จ่ายเกินตัวมาก่อนหน้านี้
เป็นความเสี่ยงของงบประมาณทั้ง 3 ก้อน ที่รัฐบาลพยายามเหลือเกินที่จะเอามาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ถ้าต้องใช้ความพยายามมากขนาดนี้ กระเสือกกระสนมากขนาดนี้
“แสดงให้เห็นว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่เกินตัว ใหญ่เกินที่รัฐบาลจะทำนโยบายนี้ให้สำเร็จเป็นจริงได้ และใหญ่เกินกว่าที่สถานะทางการคลังของประเทศจะรับไหวด้วยซ้ำไป”