แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ รวม 3 มาตรการย่อย ทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ตรึงราคาขายปลีก LPG และการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ไปก่อนหน้านี้นั้น
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณาที่น่าสนใจดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณามาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอแล้วมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า โดยที่ในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันและไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะคงตัวอยู่ในระดับสูงโดยผลของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ในภูมิภาคต่าง ๆ
ทั้งนี้หากมีการอุดหนุน หรือ Subsidize มากเกินไปก็อาจกระทบต่อการเคลื่อนไหวของกลไกตลาด และอาจทำให้มีการใช้พลังงานโดยไม่คุ้มค่า และสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ร่วมกันพัฒนาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ด้วย
ขณะเดียวกัน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ยังได้ขอให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ขอให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ของรัฐ พ.ศ.2561 ด้วย
สำหรับสาระสำคัญของมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
1.ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร
2.ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
ด้านไฟฟ้า
3.ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 19.05 สตางค์ต่อหน่วย
สำหรับการจัดเตรียมแหล่งวงเงินเพื่อดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน นั้น คาดว่าจะใช้วงเงินรวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายในที่ประชุม ครม. ให้การดำเนินการของมาตรการดังกล่าวพิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยขอรับจัดสรรจากงบประมาณ ปี 2567 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป