นายพชร อนันตศิลป์ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) หรือ บอนด์ เปิดเผยว่า สบน.เตรียมเสนอระดับนโยบายเห็นชอบในหลักการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign currency bond) เพื่อเป็นแหล่งทุนใหม่ของรัฐบาล ซึ่งจากที่สบน.ได้มีการศึกษาพบว่า แนวทางการออกบอนด์ดังกล่าวจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย
สำหรับวงเงินที่ศึกษาในการออกบอนด์นั้น จะอยู่ที่ประมาณ 500-1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เท่าที่สอบถามนักลงทุนต่างชาติเห็นว่า ขนาดของบอนด์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนักลงทุนต่างชาติได้ให้ความสนใจที่จะเข้าลงทุนบอนด์ของไทยจำนวนมาก
“เท่าที่เราเซอร์เวย์ นักลงทุนได้ให้ความสนใจที่จะลงทุนในบอนด์ของเรามาก ซึ่งต้องยอมรับว่า การลงทุนในภูมิภาคนี้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยเหตุที่ขณะนี้ ได้เกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ภูมิภาคเราเป็นที่สนใจของนักลงทุน”
นายพชร กล่าวว่า แม้แต่ประเทศที่แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ก็ยังสนใจหรือได้ออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศเช่นเดียวกันกับเรา ยกตัวอย่าง ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ได้ออกบอนด์เงินสกุลต่างประเทศราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อออกแล้ว ก็ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศทันที ดังนั้น จึงเชื่อว่า การออกบอนด์ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของเครดิตเรทติ้ง
สำหรับข้อดีของการออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศนั้น คือ จะมีส่วนช่วยในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ ลดการแย่งเงินทุนในประเทศของภาคเอกชน เป็นการเปิดตัวของประเทศหลังจากที่ไทยไม่ได้ออกบอนด์ต่างประเทศมาเป็นเวลานาน และที่สำคัญ จะเป็นการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับภาคเอกชน
อย่างไรก็ดี การออกบอนด์สกุลเงินต่างประเทศนี้ ก็มีข้อจำกัดและความเสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และ อัตราดอกเบี้ย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า และการนำเงินเข้ามาทั้งก้อน ซึ่งต้องมีโครงการรองรับ โดยข้อจำกัดนี้ เราจำเป็นต้องมีการศึกษาให้รอบคอบ
ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้ ตลาดเงินในประเทศจะมีจำนวนมาก อาจมองว่า ไม่จำเป็นที่ต้องไปออกบอนด์ต่างประเทศ ซึ่งจะมีความเสี่ยงเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน แต่การที่รัฐบาลไม่ได้ออกบอนด์ต่างประเทศมาเป็นเวลานาน ก็จะทำให้ประเทศไม่มีเรทติ้งอ้างอิง เพราะเราก็ระดมเงินแต่ภายในประเทศเท่านั้น
“การที่เราได้รับนโยบายให้มีการศึกษาเรื่องนี้ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราได้มีการเตรียมการ เพราะตลาดเงินในประเทศอาจจะไม่ได้มีจำนวนมหาศาล ถึงจุดหนึ่ง เราอาจจำเป็นต้องทำก็ได้”