คลังชี้ควรโยกกองทุนฟื้นฟูฯ “FIDF” ให้ธปท. ช่วยหนี้สาธารณะลด 5%

12 พ.ค. 2567 | 05:19 น.

คลังชี้ควรโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ “FIDF” ให้ธปท.ดูแล ช่วยให้หนี้สาธารณะลดลง 5% ระบุแบงก์ชาติเป็นผู้รับภาระชำระหนี้คืนอยู่แล้ว จากการเก็บเงินธนาคารปีละ 0.47%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ( FIDF) ควรโยกไปอยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นผู้รับภาระจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่แล้ว

สำหรับภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูนั้น เกิดจากการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินในช่วงวิกฤตสถาบันการเงินในปี 2540  ซึ่งปัจจุบันมีภาระหนี้เหลืออยู่ 5.7 แสนล้านบาท คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีก 9 ปี จึงสามารถชำระหนี้ได้หมด โดยเป็นการการทยอยชำระหนี้ ปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท 

ซึ่งหากกระทรวงการคลัง สามารถโยกภาระหนี้ก้อนนี้ออกจากบัญชีหนี้สาธารณะได้ จะทำให้ภาระหนี้ต่อ GDP ลดลงอีก 5 % ปัจจุบันภาระหนี้สาธารณะต่อGDP อยู่ที่  63.37 %

ทั้งนี้ ความเสียหายจากการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินในช่วงวิกฤตสถาบันการเงินปี 2540 ส่งผลให้กองทุนฟื้นฟู มีภาระหนี้สูงกว่า 1 ล้านล้านบาท  และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลในขณะนั้น จึงได้ทำการนำภาระหนี้ดังกล่าวมาเป็นภาระหนี้ของรัฐบาล โดย ณ เดือนกันยายน ปี 2555ภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟู อยู่ที่ 1.133 ล้านล้านบาท

“การที่ภาระหนี้ดังกล่าว มาอยู่เป็นภาระหนี้สาธารณะนั้น ถือเป็นการอยู่ที่ผิดฝาผิดตัว เนื่องจากภาระการชำระหนี้ของกองทุนในปัจจุบัน มาจากการเรียกเก็บจากสถาบันการเงิน ในอัตรา 0.47 %ของเงินฝาก เพื่อนำเงินส่งให้กองทุนฟื้นฟู แล้วไปชำระหนี้ดังกล่าว โดยที่กระทรวงการคลัง ไม่มีส่วนรับภาระหนี้ก้อนนี้เลย”

ทั้งนี้ ภาระหนี้ของกองทุนถูกบรรจุในคำนิยามของเป็นหนี้สาธารณะ ตามคำนิยามใน พรบ.หนี้สาธารณะ ขณะที่ภาระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลกองทุนฟื้นฟู ไม่ถูกนิยามเป็นภาระหนี้สาธารณะตาม กฎหมายหนี้สาธารณะ

อย่างไรก็ดี หากจะแก้ไขกฎหมายเพื่อโยกภาระหนี้ดังกล่าวไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แนวทางที่ง่ายกว่าการแก้ไข พรบ.หนี้สาธารณะ ก็คือ การแก้ไข พรก.กองทุนฟื้นฟู  ซึ่งรัฐบาลสามารถแก้ไขได้รวดเร็วกว่า

ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขพ.ร.บ.ธปท. เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ดีอยู่แล้ว ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ FIDF ให้ธปท.ดูแลนั้น เป็นเรื่องที่นานมาแล้ว สุดท้ายเงินก็อยู่ตะกร้าเดียวกัน

“เบื้องต้น ผมเข้าใจว่า สุดท้ายไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็เป็นของประเทศ ต้องมาดูว่าใครกำลังดีกว่า โดยปี 2540 ธปท.น่าจะลำบาก ท่านจะไปกู้เงินมาทำอะไรก็ลำบาก เพราะคนที่ยังมีแรงกู้คือภาครัฐ ส่วนสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องมีการหารือกัน และเงินก็อยู่ในตะกร้าเดียวกัน”