นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากการที่นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการพูดถึงการรื้อฟื้น กองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น ที่ซบเซาเงียบเหงามานานหลายปี ซึ่งกองทุน LTF ถูกยกเลิกไปตั้งแต่เมื่อปลายปี 2562 ปัจจุบันฝั่งทางตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรอให้ข้อมูลกับทางกระทรวงการคลัง เชื่อว่าหากภาครัฐเห็นด้วย นโยบายดังกล่าวก็จะได้เห็นความชัดเจนโดยเร็ว
โดยมองว่าการที่ทางกระทรวงการคลังมีการเอากองทุน LTF กลับมาใช้ เป็นเรื่องที่ดี ช่วยสร้างความเข้มแข็งตลาดทุนและเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ โดยกองทุน LTF ในอดีตค่าเฉลี่ยกองทุน LTF มีเม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี หากมีการกลับมาใช้อีกครั้งได้จริงก็เชื่อว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนไทย และกระตุ้นบรรยากาศในการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น
ความคืบหน้าการเปิดรับสมัครผู้จัดการหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันก็มีการเปิดรับสมัครตามกระบวนการขั้นตอน ซึ่งผู้ที่จะรู้ว่าใครมาสมัครแล้วบ้างคือ เจ้าหน้าที่สายงานทรัพยากรบุคคล (HR) และคณะอนุกรรมการสรรหาฯเท่านั้น โดยทั้งฝั่งผู้จัดการ ตลท.ยังไม่ได้รับทราบเรื่อง แต่ตอนนี้ยังเปิดรับสมัครไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ดีผู้ที่มีความสามารถและประสงส์จะสมัครก็ยินดีมายื่นใบสมัครได้
ขณะที่ตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่ว่างอยู่นั้น ปัจจุบันท่านรองประธานกรรมการได้ทำหน้าที่รักษาการอยู่ ซึ่งสามารถทำหน้าที่ได้ตามพระราชบัญญัติที่กำหนดไว้ในกรณีที่ท่านประธานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ก็เปิดให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่แทนไปก่อน
ส่วนภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าภาพรวมที่รัฐบาลพยามเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณจะหนุนภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไปด้วย โดยมองว่าปัจจุบันสถานการณ์ความเสี่ยงจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่มีความขัดแย้งก็มีสัญญาณที่ผ่อนคลายลง ประกอบกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางในต่างประเทศก็ทยอยผ่อนคลายและน่าจะมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ย โดยภาพเหล่านี้เริ่มทำให้เห็นสัญญาณฟันด์โฟลว์อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น จะเริ่มเห็นการไหลโยกเม้ดเงินลงทุนเข้ามาในตลาดประเทศเกิดใหม่มากขึ้นรวมถึงไทยด้วย
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเดือนเมษายน 2567 ผู้ลงทุนมีความกังวลกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบโลกและทองคำปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งอาจทำให้เงินเฟ้อลดลงช้ากว่าคาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นสวนทางกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผลการประชุม FED ที่มีมติคงดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์
ซึ่งจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ Jerome Powell มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ขณะเดียวกันได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ผู้ลงทุนปรับความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยของ FED อยู่ที่ 1-2 ครั้งในปี 2567 นี้
สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนเมษายน 2567 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว
รวมทั้งมีการคาดการณ์ว่าจะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ จากทั้งรายจ่ายและการลงทุนของรัฐบาลที่หดตัวตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ทำให้นักวิเคราะห์ได้มีการปรับ Forward EPS ของ SET เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า ขณะที่ valuation ของหุ้นไทยหลาย sector ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 SET Index ปิดที่ 1,367.95 จุด ปรับลดลง 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ทั้งนี้ปรับลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2567 มาอยู่ที่ 44,448 ล้านบาท แม้ว่าลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 3,787 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24
โดยในเดือนเมษายน 2567 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET จำนวน 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. นีโอ คอร์ปอเรท (NEO) และใน mai จำนวน 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เอเชียนน้ำมันปาล์ม (APO), บมจ. บีพีเอส เทคโนโลยี (BPS), บมจ. คิวทีซีจี (QTCG), บมจ. เทอร์ราไบท์ พลัส (TERA), บมจ. สโตนวัน (STX) เป็นต้น ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index ในเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
ด้าน Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 17.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า และมีอัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 3.40% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.18%
สำหรับภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในเดือนเมษายน 2567 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 459,746 สัญญา ลดลง 8.0% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 438,862 สัญญา ลดลง 21.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures