ความต้องการดึง "ภาษีน้ำมัน" กลับมาดูแลเองของกระทรวงพลังงานกำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
หลังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศว่า จะมีแการแก้ไขต้องนำอำนาจในการเก็บเพดานภาษีมาอยู่ที่กระทรวงพลังงาน เมื่อเป็นสินค้าของกระทรวงพลังงาน
โดยนายพีระพันธุ์ ระบุว่า การออกกฎหมายเมื่อปี 2562 ไปตัดอำนาจกำหนดเพดานภาษีของกองทุนน้ำมันฯ ออกเหลือแต่การเงินอย่างเดียว ดังนั้นตัวเลขของกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นหนี้จำนวนมากหรือติดลบตั้งแต่ปี 2562
จากเดิมที่ก่อนปี 2562 ใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 มาโดยตลอด ซึ่งในคำสั่งนี้ให้อำนาจกองทุนน้ำมันฯ ดูแลตรึงราคาหรือรักษาระดับราคาน้ำมัน คือทำได้ 2 ขา
ขาหนึ่งคือ ใช้เงินในกองทุนน้ำมันฯ ส่วนอีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดกำหนดเพดานภาษี ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ มีอำนาจกำหนดเพดานภาษี
แต่ไม่มีอำนาจในการเก็บภาษี ดังนั้นก็สามารถใช้ 2 ขานี้ในการตรึงราคาหรือช่วยดูแลประชาชนได้นอกจากใช้เงินอย่างเดียว โดยใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวควบคุมได้ด้วย
เมื่อกระทรวงพลังงานกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือกระทรวงการคลัง
ต่อเรื่องดังกล่าวแหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า การบริหารราคาน้ำมันสมัยก่อนหน้าที่ยังไม่มีกองทุนน้ำมันฯ จะอาศัยคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยในคำสั่งดังกล่าวจะมีข้อหนึ่งที่ว่าด้วยอำนาจของกองทุนน้ำมันฯ ให้สามารถพิจารณาในเรื่องภาษีเองได้
ซึ่งสมัยก่อนนั้นราคาน้ำมันไม่ได้มีปัญหา และสูงเหมือนเช่นปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เมื่อมีพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ในระหว่างประชาพิจารณ์ได้มีการตัดอำนาจกองทุนน้ำมันฯ ออกไป ซึ่งในเวลานั้นนายกุลิศ สมบัติศิริ เป็นปลัดกระทรวงพลังงานช่วงเริ่มต้น
สำหรับในการประชาพิจารณ์นั้น ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีประเด็นที่กระทรวงการคลัง และหลายหน่วยงานต่างให้ความเห็นว่าอานาจในด้านของภาษีถือเป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิตไม่ใช่อำนาจของหน่วยงานอื่น จึงควรเป็นหน่วยงานเดียวในการพิจารณา และได้ตัดอำนาจกองทุนน้ำมันฯ ออกตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ พ.ศ.2562
"เชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะมีทางออก หากหารือ หรือคุยได้ด้วยดี โดยวันนี้ที่ รมว.พลังงานกลับมาดูว่าเหตุใดจึงโดนตัด เพราะราคาน้ำมันที่สูงในปัจจุยัน อีกทั้งกระทรวงการคลังก็ไม่มีการลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันช่วย"
อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมากองทุนน้ำมันฯ ไม่เคยใช้อำนาจตั้งแต่อยู่กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยหลักจะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด เนื่องจากป็นผู้ดูแลรายได้ทั้งประเทศ จะต้องรู้ว่าภาษีระดับเท่านี้จะนำมาพัฒนาอะไร เพราะฉะนั้น รายได้ทั้งหมดจึงควรอยู่กับกรมสรรพสามิต
ขณะที่คำสั่งของนายกฯ จะทำให้ใหญ่กว่า พ.ร.บ.ก็คงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องกลับมาดูว่า ตอนที่เขียน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ โดยที่ไม่เคยใช้อำนาจในเรื่องนี้เลยก็ลำบาก แม้จะมีคำสั่งและเขียนจริงแต่ไม่เคยใช้เลยเพราะอำนาจยกให้สรรพสามิตดูภาพรวม เมื่อเห็นว่าราคาน้ำมันแพงและเยอะไปก็ไปขอความร่วมมือแทน เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
โดยกรมสรรพสามิตจะทำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และออกราชกิจจานุเบกษา รวมถึงชี้แจงว่าเมื่อลดภาษีแล้วจะสูญเสียรายได้เข้ารัฐเท่าไหร่ เป็นต้น
"ในความคิดเห็นส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการจะดึงกลับมา เพราะเป็นอานาจที่กระทรวงการคลังดูในภาพรวม หากกระทรวงพลังงานจะลดภาษีก็จะต้องดูถึงผลกระทบที่จะตามมาอีกว่ารายได้ประเทศจะเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจุบันเก็บที่ 5.99 บาทต่อลิตร หากลดลงเหลือ 3 บาทต่อลิตร แล้วเงินที่หายไปกระทรวงพลังงานจะรู้หรือไม่ว่าจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง หรือตัวชี้วัดประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ดังนั้น จึงเห็นว่าควรให้อยู่ที่เดิมและใช้วิธีการเจรจาต่อรองให้ช่วยเหลือเหมือนที่ผ่านมา"
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การแก้กฎหมายทุกอย่างมีขั้นตอน ต้องอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นให้ได้ว่า ประชาชนได้อะไร และเสียอะไร ทำเพื่ออะไรเพื่อให้เป็นมติ ครม.เหมือนกับการขอลดภาษี โดยการแก้กฎหมายจะต้องมาอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ปี 2567 หากเสร็จปีนี้ได้จริง
โดยเมื่อส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เแล้วสร็จ จะต้องถามความคิดเห็นว่าจะกระทบกับกฎหมายฉบับใดบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกระทบกับกฎหมายกรมสรรพสามิตที่ปัจจุบันมีอำนาจดูอยู่ รวมถึงต้องดูว่าขัดหรือไม่ และต้องได้รับความยินยอมจากกรมสรรพสามิตก่อน
“การแก้กฎหมายเพื่อดึงอำนาจกลับมาที่กระทรวงพลังงานไม่ใช่เรื่องง่าย หากนำมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศชาติบ้างก็ไม่มีใครสามารถตอบได้ เพราะไม่รู้ว่าเงินภาษีน้ำมันที่ลดให้เกือบ 2 แสนล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้สูญเสียอะไรไปบ้าง คนกระทรวงพลังงานก็ไม่ทราบการบริหารจัดการจะลำบาก”