ครม.สัญจร เคาะไทม์ไลน์ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาท ทั่วประเทศ ก.ย.-ต.ค.2567

14 พ.ค. 2567 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2567 | 06:31 น.

นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ประชุม ครม.สัญจร จังหวัดเพชรบุรี รับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน หรือ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” เท่ากันทั่วประเทศ คาดมีผล ก.ย.-ต.ค.2567

วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2567 หรือ ครม.สัญจร ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน หรือ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” เท่ากันทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2567

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้ยืนยันไทม์ไลน์ของนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ต่อที่ประชุม ครม.สัญจร โดยในวันนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน จะนัดหารือถึงรายละเอียดการศึกษาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ภายหลังจากได้มีการปรับขึ้นนำร่องแล้วในธุรกิจโรงแรม รวม 10 จังหวัดไปก่อนหน้านี้

โดยตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน จะหาทางผลักดันการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน โดยมีเป้าหมายการประกาศใช้ทั่วประเทศ ให้ได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ ซึ่งที่ประชุม ครม.สัญจร ก็ได้รับทราบรายละเอียดของไทม์ไลน์ตามที่เสนอ โดยนายกฯ รัฐมนตรีไม่ได้มีข้อสั่งการใดเป็นพิเศษ

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับกรมการค้าภายใน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด หลังจากรัฐบาลมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ซึ่งยืนยันว่า การขึ้นค่าแรงจะไม่ใช่ต้นเหตุให้สินค้าปรับขึ้นราคาแน่นอน

ต่อมา นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม. ระบุว่า ที่ประชุมครม.สัญจร รับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาท ทั่วประเทศ โดยกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ดำเนินการดังนี้ 

1. กำหนดให้สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567

2. กำหนดให้มีการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567

3. สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้การประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิซาการและกลั่นกรองเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567

4. สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 และเสนอประกาศ คณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567