“สุรพงษ์” ดัน 4 บิ๊กโปรเจ็กต์กาญจนบุรี 2.4 หมื่นล้าน บูมเศรษฐกิจท่องเที่ยว

15 พ.ค. 2567 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 07:11 น.

“สุรพงษ์” ร่วมทัวร์นกขมิ้น สั่งการบ้านหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง เข็น 4 บิ๊กโปรเจ็กต์กาญจนบุรี วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท สางปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก แก้รถติดในพื้นที่ รับมอเตอร์เวย์บางใหญ่ฯ ลุยปั้นพื้นที่เชิงพาณิชย์ หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวในอนาคต

KEY

POINTS

  • “สุรพงษ์” ร่วมทัวร์นกขมิ้น สั่งการบ้านหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง
  • เข็น 4 บิ๊กโปรเจ็กต์กาญจนบุรี วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท สางปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก แก้รถติดในพื้นที่ 
  • ลุยปั้นพื้นที่เชิงพาณิชย์ หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวในอนาคต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10-11 พ.ค. ที่ผ่านมา “สุรพงษ์  ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมทัวร์นกขมิ้นพร้อมกับคณะนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่กาญจนบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ 

 

สั่งการบ้าน 4 หน่วยงาน โหมบิ๊กโปรเจ็กต์ 

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการพัฒนาโครงการในพื้นที่ของกระทรวงคมนาคมนั้น ตนได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วางแผนดำเนินการขุดลอกพื้นที่แก้มลิง เพื่อเพิ่มความจุการรองรับปริมาณน้ำของแก้มลิงให้เพิ่มมากขึ้น 

 

ขณะเดียวกันตนได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางในจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรองรับการท่องเที่ยว คาดว่าเมื่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) แล้วเสร็จ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า - ออก เป็นจำนวนมาก ทำให้ถนนเส้นหลักที่เชื่อมต่อกับ M81 การจราจรหนาแน่น

 

ขยายช่องระบายน้ำแก้มลิง 

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟท.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายช่องระบายน้ำทางรถไฟ จำนวน 2 จุด วงเงินรวม 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแก้มลิง เพื่อสอดรับกับโครงการระบบระบายน้ำบ้านหัวนาล่างของกรมโยธาธิการและผังเมือง เนื่องจากเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวของรฟท. ที่ผ่านมารฟท.ได้อนุมัติโครงการฯแล้ว อยู่ระหว่างกรมโยธาฯดำเนินการต่อไป 
 

“โครงการที่ดำเนินการในจุดแรกจะรองรับแผนดำเนินงานในระยะที่ 2 เบื้องต้นส.ส.ในพื้นที่จังหวัดกายจนบุรี อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณ ปี 2567 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนกรกฎาคม 2567 ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน”

 

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างขยายช่องระบายน้ำทางรถไฟ จำนวน 2 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 กม.109+894 ขยายช่องเปิดน้ำ คสล.เป็นท่อสี่เหลี่ยม คสล.ขนาด 3- (2.00x2.00) เมตร วงเงิน 6.5 ล้านบาท และจุดที่ 2 กม.116+265 ขยายช่องเปิดน้ำ คสล.เป็นท่อสี่เหลี่ยม คสล.ขนาด 1- (1.50x1.50) เมตร วงเงิน 3.5 ล้านบาท

 

ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านสถานีกาญจนบุรี เนื้อที่ 124 ไร่ เป็นการพัฒนาพื้นที่ของรฟท.ในรูปแบบสวนสาธารณะและแก้มลิง รวมทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ เบื้องต้นรฟท.จะพัฒนาปรับระดับความลึกของปริมาณน้ำที่มาจากฝั่งเขาเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

 

ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ 124 ไร่

แหล่งข่าวจากบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ความคืบหน้าแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านสถานีกาญจนบุรี เนื้อที่ 124 ไร่ ปัจจุบันบริษัทต้องศึกษาแผนพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เบื้องต้นจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โซน A พื้นที่ตลาดกลางค้าปลีก - ค้าส่ง พื้นที่ 40 ไร่ วงเงิน 400 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลโครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นการเปิดประมูลให้เอกชนเช่าพื้นที่ สัญญาสัมปทาน 30 ปี หากได้ตัวเอกชนแล้วจะเริ่มดำเนินการตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2569 โดยเอกชนมีระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี ส่วนการเปิดให้บริการขึ้นอยู่กับเอกชนเป็นผู้ดำเนินการด้วย

 

 “ขณะที่พื้นที่โซน B ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวงเงินลงทุนและรูปแบบของโครงการฯ ส่วนโซน C พื้นที่สวนสาธารณะและแก้มลิง 43 ไร่ รฟท.จะเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาได้เร็วๆนี้”

 

 สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณย่านสถานีกาญจนบุรี แบ่งการพัฒนาเป็น 3 โซน ประกอบด้วย 1.โซน A พื้นที่ตลาดกลางค้าปลีก - ค้าส่ง พื้นที่ 40 ไร่ 2.โซน B พื้นที่อยู่อาศัยระยะยาว เป็นโครงการบ้านเพื่อคนไทย 41 ไร่ ซึ่งมีรูปแบบเป็นคอนโดมิเนียม 8 ชั้นและบ้านพัก ฯลฯ แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ เพื่อดึงผู้คนเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น

 

3.โซน C พื้นที่สวนสาธารณะและแก้มลิง 43 ไร่ ปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณ 32,640 ลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำเพิ่มได้อีก 22,000 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ หาก รฟท. ขุดลอกลึกเพิ่มอีก 1 เมตร จะสามารถรองรับน้ำเพิ่มขึ้นได้อีก 27,200 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 49,200 ลูกบาศก์เมตร

เร่งสร้างถนนฝั่งเหนือ แก้รถติด

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการศึกษาเพื่อการออกแบบถนนวงแหวนฝั่งเหนือ เมืองกาญจนบุรี เป็นโครงการศึกษาเพื่อออกแบบตัดถนนใหม่เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางรวม 30 กม. วงเงิน 6,048 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าศึกษาความเหมาะสมพร้อมรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) 25 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียดพร้อมรายงานสิ่งแวดล้อมฯ (EIA) 50 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สิน 2,250 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 3,600 ล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้าง 108 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายมาตรการสิ่งแวดล้อม 15 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ตามแผนจะศึกษาความเหมาะสมฯ (IEE) และออกแบบรายละเอียดฯ (EIA) พร้อมรออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายในปี 2569-2572 หลังจากนั้นจะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์และเวนคืนที่ดิน ภายในปี 2573-2574 และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2575-2577 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2578 

“สุรพงษ์” ดัน 4 บิ๊กโปรเจ็กต์กาญจนบุรี 2.4 หมื่นล้าน บูมเศรษฐกิจท่องเที่ยว

ศึกษาถนนฝั่งใต้-สะพานข้ามแม่กลอง

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ด้านโครงการศึกษาเพื่อการออกแบบถนนวงแหวนฝั่งใต้ พร้อมสะพานโครงสร้างพิเศษข้ามแม่น้ำแม่กลอง เป็นโครงการศึกษาเพื่อการออกแบบตัดถนนใหม่โดยเป็นถนน 4 ช่องจราจร มีระยะทางรวม 55 กม. วงเงิน 17,716 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าศึกษาความเหมาะสมพร้อมรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) 65 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียดพร้อมรายงานสิ่งแวดล้อมฯ (EIA) 240 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและทรัพย์สิน 4,200 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 12,788 ล้านบาท ค่าควบคุมการก่อสร้าง 384 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายมาตรการสิ่งแวดล้อม 40 ล้านบาท

 

นอกจากนี้โครงการฯจะศึกษาพร้อมออกแบบสะพานโครงสร้างพิเศษข้ามแม่น้ำแม่กลอง เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรถนนสายหลักที่เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เบื้องต้นตามแผนโครงการฯจะศึกษาความเหมาะสมฯ (IEE) และออกแบบรายละเอียดฯ (EIA) พร้อมรออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ภายในปี 2569-2572 หลังจากนั้นจะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์และเวนคืนที่ดิน ภายในปี 2573-2574 และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2575-2577 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2578

 

หากทุกโปรเจ็กต์ดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากและช่วยแก้ปัญหารถติดในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมในจังหวัดกาญจนบุรีอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคตอันใกล้อีกด้วย