จากกรณีที่ “ฐานเศรษฐกิจ” รายงานไปก่อนหน้านี้ ว่า สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ( ป.ย.ป.) ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งหรือประกอบอาชีพในกฎหมายของบุคคลล้มละลาย พ.ศ. .... บนเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ไปแล้วนั้น
โดยร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมฯ บุคคลล้มละลาย มาตรา 4 ระบุให้แก้ไข พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 13 ฉบับ เปิดทางให้คนที่ศาลเคยพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่บุคคลล้มละลายจากการทุจริต สามารถดำรงตำแหน่งสำคัญในภาคเอกชน อาทิ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการ ก.ล.ต. บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงข้าราชการ อาทิ อธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลนายชวน หลักภัย แสดงทัศนะต่อร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมฯ บุคคลล้มละลาย ฉบับเปิดรับฟังความเห็น ว่า เห็นด้วยเพราะโดยหลักการการล้มละลาย ไม่ใช่เพราะเหตุเกิดจากการทุจริต แต่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจ หรือ เหตุสุดวิสัย จึงควรได้รับโอกาส แต่ถ้าเป็นบุคคลที่โดนฟ้องล้มละลายเพราะทุจริต ฉ้อโกง หรือ เรียกว่า “ล้มบนฟูก” ต้องพิจารณาให้ดี
“เห็นด้วยที่ว่า คนล้มละลายที่เกิดเหตุจากปัจจัยภายนอก เช่น โควิด-19 หรือสภาพเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจที่ทำอยู่เจ๊ง ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าเป็นการล้มบนฟูก หรือ ตั้งใจเจ๊ง ล้มละลายไป คงต้องมีความละเอียดรอบคอบ เพราะสังคมคงรับไม่ได้ จะปล่อยผีทั้งหมดคงไม่ได้”นายพิสิฐกล่าว
นายพิสิฐกล่าวว่า ควรเปิดโอกาสให้คนที่ล้มละลายเพราะเหตุสุดวิสัยได้มีโอกาสทำมาหากิน กลับเนื้อกลับตัวได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่การเอาพรรคพวกของตัวเองที่ฉ้อโกงกลับเข้ามาฟื้นคืนชีพใหม่ ควรระมัดระวัง แม้จะบอกว่า เคยรับกรรมไปแล้ว จบสิ้นกัน แต่การที่เคยทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเรา