หอการค้าต่างประเทศออกหนังสือค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ

16 พ.ค. 2567 | 08:13 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ค. 2567 | 08:51 น.

ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ทำหนังสือถึงหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลกรณีการเสนอขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ หวั่นเพิ่มค่าแรงโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ และเปล่าประโยชน์

วีเบคก้า ริสซอน ไรเวอร์ก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ได้ทำหนังสือถึง นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 15 พ.ค. 2567 เนื้อหาระบุว่า หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันทั่วประเทศเป็น 400 บาทในเดือนตุลาคมนี้ และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

โดย JFCCT เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ถ้าไม่เป็นเงื่อนไขล่วงหน้า ก็จำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับการเพิ่มผลิตภาพตามแผนงานที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้งานเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ประโยชน์อื่นใดมากนัก

การเพิ่มผลิตภาพในบางบริษัทที่มีขนาดเล็กอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า นอกจากขนาดแล้ว ภูมิภาคและประเภทของอุตสาหกรรมยังอาจมีผลต่อความสามารถขององค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงการยกระดับเทคโนโลยีด้านต่างๆจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ

นอกจากนี้ การขาดทักษะในการทำงาน ก็เป็นสาเหตุสำคัญของผลิตภาพที่ต่ำ รายงานธนาคารโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าด้วยเรื่องทักษะแรงงานในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการขาดทักษะพื้นฐานทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 20% รายงานของธนาคารโลกเดือนมกราคม 2563 ที่สำรวจสถานะเศรษฐกิจไทย ได้กล่าวถึงผลิตภาพและให้ข้อเสนอแนะบางประการซึ่งค่อนข้างรุนแรง 

สำหรับ JFCCTมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพในประเทศไทยและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ
  2. ในการจะทำให้การเพิ่มผลิตภาพเป็นนโยบายหลัก จำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ภาคธุรกิจ ต้องนำมาตรการกำกับดูแลและมาตรการบังคับมาใช้ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการด้านผลิตภาพ หรือ Productivity Commission
  3. ต้องเสริมสร้างทักษะ เพิ่มขีดความสามารถทางเทคนิค และนวัตกรรม โดยการให้การศึกษาและการฝึกอบรม ให้ทุนหรือเงินอุดหนุนระดับสูง เพื่อนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ๆ มาใช้
  4. การพัฒนาแรงงาน (workforce development) จำเป็นต้องผสมผสานกันระหว่างการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะให้คนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติได้อย่างเสรี การเปิดรับแรงงานต่างชาติจะช่วยยกระดับทักษะของแรงงานในประเทศด้วย รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งนี้ แนะนำให้ไทยปฏิรูประบบการอนุญาตทำงานและการให้วีซ่าแก่คนทำงานต่างชาติด้วย รวมทั้งการปรับปรุง LTR ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น
  5. ขนาดเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เกษตรกรรม การผลิต และการท่องเที่ยว จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป  

จดหมายจากประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT)