การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล มีความชัดเจนแล้วว่า กระทรวงแรงงาน โดย สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ได้กำหนดเป้าหมายการจัดทำรายละเอียดของ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เสนอคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 อีกครั้งเป็นรอบที่สาม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ ภายในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567 นี้ตามเป้าหมาย
ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาว่าแต่ละจังหวัดจะมีการขึ้นค่าจ้างในอัตราเท่าไหร่ และให้กำหนดวันที่จะบังคับใช้ด้วยว่าควรบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2567 หรือ 1 มกราคม 2568
โดยการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำภายใต้กรอบแนวคิดในเรื่องของค่าครองชีพของจังหวัดนั้น ๆ สภาพเศรษฐกิจ สภาพเงินเฟ้อ และที่สำคัญที่ต้องมอง คือ ราคาสินค้าในท้องตลาดของจังหวัดต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากบริบทของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน
เบื้องต้นน่าจะมีข้อสรุปภายใน 2 เดือน หลังจากในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการนำร่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ไปแล้วครอบคลุมกลุ่มธุรกิจโรงแรมในพื้นที่นำร่องของ 10 จังหวัด
ทั้งนี้หากพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าจ้างขั้นต่ำ ล่าสุดของแต่ละจังหวัดนั้น จะพบข้อมูลว่า แต่ละจังหวัดได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่เหมือนกัน และหากจะปรับขึ้นให้ได้ตามนโยบายรัฐบาลวันละ 400 บาทนั้น แต่ละจังหวัดต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในอัตราต่าง ๆ ดังนี้
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ยังคงต้องรอติดตามกันต่อไปด้วยว่า เป้าหมายที่กำหนดเอาไว้นั้น จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แม้ว่าธงของรัฐบาลจะปักเอาไว้อย่างชัดเจนว่า "ขึ้นแน่" เพื่อเป็นข่าวดีสำหรับบรรดาลูกจ้างแรงงาน
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องดูผลกระทบต่อนายจ้างด้วย แถมสุดท้ายก็ยังต้องฝ่าด่านหิน นั่นคือ การประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ขาดในอีกไม่นานนับจากนี้