KEY
POINTS
ที่ผ่านมาเกาะล้านและเกาะกูดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญ พบว่าท่าเรือในปัจจุบันมีความทรุดโทรมจนไม่สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการได้อย่างเพียงพอ ทำให้กรมเจ้าท่ามีแผนเร่งรัดปรับปรุงท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้นในอนาคต
นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือเกาะล้าน (ท่าเรือหน้าบ้าน) เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี วงเงิน 285 ล้านบาท ที่ผ่านมาองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) หรือ อพท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบเพื่อปรับปรุงท่าเรือหน้าบ้านแล้วเสร็จในปี 2558 แล้ว ส่งผลการศึกษาให้กรมเจ้าท่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานการประเมินด้านผลกระทบและสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ขณะเดียวกันกรมฯได้รับความเห็นชอบรายงาน อีไอเอในช่วงปลายปี 2565 จึงได้ของบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว โดยโครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือเกาะล้านฯ เบื้องต้นกรมฯ จะดำเนินการของบประมาณผูกพันข้ามปี ประกอบด้วย ปี 2567 วงเงิน 57 ล้านบาท ,ปี 2568 วงเงิน 114 ล้านบาท และปี 2569 วงเงิน 114 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างกระบวนการเตรียมจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2569
“สาเหตุที่ดำเนินการปรับปรุงโครงการฯ เนื่องจากในปัจจุบันการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเกาะล้านกับฝั่งต้องเดินทางมาทางน้ำเท่านั้น ซึ่งเดินทางจากท่าเรือแหลมบาลีฮาย ฝั่งเมืองพัทยา มายังท่าเรือหลักคือท่าเรือหน้าบ้าน มีท่าเรือกว้างเพียง 7 เมตร รองรับทั้งเรือขนส่งสินค้าและเรือโดยสาร จึงคับแคบและไม่มีราวกันตกจึงไม่ปลอดภัย อีกทั้งท่าเรือมีความชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก แต่ยังมีการใช้งานที่คับคั่งและแออัด ไม่สะดวกปลอดภัยต่อประชาชน นักท่องเที่ยวและการขนส่ง ที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนเกาะล้านประมาณ 3 ล้านคนต่อปี”
ด้านงานก่อสร้างของโครงการฯ ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเทียบเรือชั่วคราว ความยาว 170 เมตร ,งานรื้อถอนท่าเรือเก่าพร้อมราวกันตก พื้นที่รื้อถอน 910 ตารางเมตร,การก่อสร้างท่าเทียบเรือใหม่ หน้าท่ายาวประมาณ 64 เมตร กว้างประมาณ 20 เมตร, งานก่อสร้างทางเดินสะพานท่าเรือ ยาวประมาณ 200 เมตร กว้างประมาณ 14 เมตร,งานก่อสร้างอาคารพักคอย จำนวน 1 หลัง,งานก่อสร้างบันไดและทางลาด จำนวน 4 แห่ง ,งานสะพานปรับระดับขนาด 2 x 24 เมตร จำนวน 2 ชุด ,งานก่อสร้างโป๊ะท่าเรือ ขนาด 6 x 20 เมตร จำนวน 6 โป๊ะ
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือเกาะกูดซีฟร้อนท์ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด วงเงิน 280 ล้านบาท ที่ผ่านมาอบต.เกาะกูดได้แจ้งว่ามีการร้องเรียนจากประชาชนเกาะกูด ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวว่าได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีท่าเรือที่ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวของเกาะกูดในปัจจุบัน โดยท่าเรือที่มีอยู่มีความแออัดไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นและเดินทางมาเกาะกูดตลอดทั้งปี ทำให้สะพานท่าเทียบเรือเป็นปัญหาจำเป็นเร่งด่วนที่สุด
ทั้งนี้กรมฯได้ว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบท่าเรือ หน้าท่ายาวประมาณ 70 เมตร สามารถรองรับเรือจอดหน้าท่าได้ 2 ลำ และหน้าท่าด้านหลังจอดได้ 1 ลำ ซึ่งมีความยาว 60 เมตร มีโป๊ะเทียบเรือ สะพานเชื่อมต่อท่าเรือและอาคารรับรองผู้โดยสารหลังท่าเรือ
นายกริชเพชร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้ตัวผู้รับจ้างแล้วบริษัท พร้อมมิตร เอส เอ เอฟ ที จำกัด อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงคมนาคมอนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ แบ่งเป็น ปี 2566 วงเงิน 56 ล้านบาท ,ปี 2567 วงเงิน 112ล้านบาท และปี 2568 วงเงิน 112 ล้านบาท คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนนี้ ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในตุลาคม 2569
สำหรับงานก่อสร้างของโครงการฯ ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือคอนกรีตเสริมเหล็ก หน้าท่ายาวประมาณ 70 เมตร กว้าง 14 เมตร,ก่อสร้างสะพานทางเชื่อมท่าเรือคอนกรีตเสริมเหล็ก สะพานยาวประมาณ 208 เมตร กว้าง 10 เมตร,ก่อสร้างโป๊ะคอนกรีตขนาด 6 x 20 ม. จำนวน 1 โป๊ะ,ก่อสร้างสะพานปรับระดับขนาด 2 x 20 ม. จำนวน 1 ชุด,ก่อสร้างกำแพงกันดินและหินทิ้งด้านหน้าโครงการ ความยาว 93 เมตร,ก่อสร้างอาคารบริการนักท่องเที่ยว ขนาด 10 x 14 เมตร จำนวน 2 หลัง, ก่อสร้างอาคารวางถังน้ำสำเร็จรูป ขนาด 3.0 x 9.0 เมตร, ก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการและทางเดินเท้า ความยาว 120 เมตร และก่อสร้างที่จอดรถ ป้อมยาม รั้ว ป้าย และงานภูมิสถาปัตย์
อย่างไรก็ตามการพัฒนาท่าเรือดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนเกาะล้านและเกาะกูด รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางทางน้ำได้อย่างสะดวกและปลอดภัย