แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. เตรียมเสนอโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ให้กับที่ประชุมพิจารณา เพื่อรองรับการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet รวมทั้งรองรับการจ่ายเงินสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐให้กับประชาชนด้วย
ทั้งนี้ในการดำเนินการโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) ที่ผ่านมาทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เสนอขอความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ต่อ โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงินแล้ว และคาดว่าจะนำเสนอที่ประชุมครม. ได้ภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับความสำคัญของโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน นั้น แหล่งข่าวระบุว่า ส่วนหนึ่งของโครงการจะใช้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำระบบมารองรับ และอีกส่วนหนึ่งจะรวบรวมการทำธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวกับเงินสวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะเงินเบี้ยยังชีพทั้งหมด รวมถึงการรวมกระเป๋าเงินดิจิทัลของธนาคารรัฐเข้ามาอยู่รวมกันด้วย
“โครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน จะเป็นระบบกลางรวมรวมการทำโครงการรัฐที่เกี่ยวกับการใช้เงินต่าง ๆ เบื้องต้นแพลตฟอร์มนี้มีต้นทุนงบประมาณในการพัฒนาไม่มากอาจไม่ถึงหลักร้อยล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ครม.พิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ที่ผ่านมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการจัดทำระบบภายใต้การโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลังหารือร่วมในคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ เบื้องต้นจะมีการเชื่อมโยงระบบในลักษณะ Open Loop หรือระบบควบคุมแบบเปิด เพื่อเปิดให้ Wallet ของธนาคารต่าง ๆ เข้ามาเชื่อมต่อระบบกันได้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกรับเงินและใช้จ่ายได้สะดวกมากขึ้น
ส่วนหลักการเบื้องต้นของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการและเคยยืนยันตัวตนผ่านโครงการของรัฐแล้วไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่ โดยอาจจะมีการดึงฐานข้อมูลเก่ามาใช้แต่จะต้องมีการยืนยันเพื่อรับสิทธิในโครงการ ซึ่งผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องโหลดแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เพื่อเข้าสู่กระบวนการยืนยันการรับสิทธิ เช่นเดียวกับร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการด้วย
อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะอนุกรรมการยังได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ไปหารือในรายละเอียดร่วมกับคณะกรรมการที่ติดตามการทุจริตของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจไซเบอร์ เพื่อออกแบบระบบและกลไกในการใช้งานเพื่อไม่ให้มีการใช้งานที่ผิดประเภท และวัตถุประสงค์ของโครงการด้วย